สบู่แดง
  ชื่อสามัญภาษาไทยสบู่แดง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษbellyache bush
  ชื่อวิทยาศาสตร์Jatropha gossypifolia L.
  ชื่อพ้องละหุ่งแดง หรือ สบู่เลือด
  ชื่อวงศ์Euphorbiaceae
  ชื่อท้องถิ่นสบู่แดง ละหุ่งแดง สบู่แดง (ภาคกลาง), สบู่เลือด สลอดแดง สีลอดหงษ์เทศ (ปัตตานี)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

สบู่แดงเป็นไม้พุ่มสูง 1-2 เมตร แตกกิ่งก้านจากโคนต้น ลำต้นและกิ่งมีขนสีทองปกคลุมหนาแน่น ทุกส่วนของต้นมียางขาว 

ใบเดี่ยวเรียงสลับรูปฝ่ามือ ขอบใบเว้าลึก 3-5 แฉก ใบอ่อนสีแดงอมม่วง เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีเขียวอมแดง ก้านใบสีแดง 

ช่อดอกเชิงลดหลั่นออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยสีแดงเข้ม ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แต่ละช่อย่อยมีดอกตัวเมีย 1 ดอก ที่เหลือเป็นดอกตัวผู้ 

ผลค่อนข้างกลม มี 3 พู เมื่อแก่แตกได้ มี 3 เมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือปักชำ

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบสบู่แดงใช้ต้มกินช่วยแก้ไข้ ลดไข้ 
  • ก้านใบใช้ลนไฟ เป่าเข้าหูจะช่วยแก้อาการหูอื้อได้ 
  • ช่วยรักษาโรคหืด 
  • เมล็ดสบู่แดงมีฤทธิ์ทำให้อาเจียน
  • ใบนำมาใช้ต้มกินแก้อาการปวดท้องได้ 
  • ใช้เป็นยาระบาย ด้วยการนำใบสบู่แดงมาต้มกิน หรือจะใช้เมล็ดนำมาเผาให้สุกแล้วกินเป็นยาถ่าย ยาระบายก็ได้เช่นกัน แต่ควรใช้แต่น้อย 
  • น้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง 
  • ช่วยขับพยาธิ 
  • ช่วยถ่ายน้ำเหลืองเสีย 
  • ใบใช้ตำพอกแก้ผื่นคัน 
  • ใบใช้ตำพอกช่วยแก้ฝี 
  • เมล็ดนำมาตำใช้พอกทาแผลโรคเรื้อน 
  • ใบนำมาต้มน้ำอาบ ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ 

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใบ ต้มกินแก้ปวดท้อง ลดไข้ 
  • เมล็ด มีฤทธิ์เป็นยาระบาย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  พันธุ์ไม้ย้อมสีธรรมชาติ.  “สบู่แดง“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qsds.go.th.  [10 พ.ย. 2013].
  2. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [10 พ.ย. 2013].
  3. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [10 พ.ย. 2013].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [10 พ.ย. 2013].
  5. เดอะแดนดอตคอม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.the-than.com.  [10 พ.ย. 2013].
  6. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [10 พ.ย. 2013].
  7. https://www.swschool.ac.th/Garden/picture/new/66/66.htm