ชิงชี่
  ชื่อสามัญภาษาไทยชิงชี่
  ชื่อวิทยาศาสตร์Capparis micracantha DC.
  ชื่อพ้องCapparis boriensis Pierre ex Gagnep, Capparis . donnariensis Pierre ex Gagnep, Capparis. roydsiaefolia Kurz
  ชื่อวงศ์Capparidaceae
  ชื่อท้องถิ่นกระโรกใหญ่, แสมชง,พญาจอมปลวก, ค้อนฆ้อง, กระดาษขาว (ภาคกลาง), แส้ม้าทลาย (เชียงราย), หนวดแมวแดง (เชียงใหม่), คายชู (อุบลราชธานี), หมากหมก (ชัยภูมิ), ค้อนกลอง  (เพชรบูรณ์), ชิชง (ปราจีนบุรี), กระดาษป่า (ชลบุรี), ราม (สงขลา), เม็งซอ (ปัตตานี)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ชิงชี่ (Chingchi) จัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็กหรือไม้พุ่มกึ่งเลื้อยสูง 2-6 เมตร ลำต้นสีเทาแตกระแหง กิ่งก้านอ่อนมีสีเขียว ผิวเรียบเกลี้ยง กิ่งคดไปมา มีหนามตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาว 2-4 มิลลิเมตร

    ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนาน รูปรี หรือรูปไข่ กว้าง 4-15 เซนติเมตร ยาว 8-24 เซนติเมตร ปลายใบมนหรือแหลม หรือเว้าเล็กน้อยแล้วเป็นติ่ง โคนใบสอบมนโค้งกว้างหรือกึ่งรูปหัวใจ ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อใบค่อนข้างหนา มัน เกลี้ยง หลังใบเรียบมีเส้นกลางใบชัดเจน เป็นมันท้องใบเรีบ ก้านใบยาว 0.7-1 เซนติเมตร

    ดอก ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ บริเวณปลายกิ่ง โดยจะออกเรียงเป็นแถว และอาจออกได้พร้อมกันถึง คราวละ 6 ดอก มีก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยง รูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-5.5 มิลลิเมตร ยาว 5.5-13 มิลลิเมตร ขอบกลีบเลี้ยงมักมีขน ส่วนกลีบดอกเป็นรูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง 3-7 มิลลิเมตร ยาว 1-2.5 เซนติเมตร มีสีขาว และหลุดร่วงง่าย มี 2 กลีบด้านนอก สีขาวแต้มเหลืองและจะเปลี่ยนเป็น แต้มสีม่วงปนน้ำตาล มีต่อมน้ำหวานที่โคนก้านดอก สำหรับเกสรเพศผู้เป็นเส้นเล็กฝอยๆ สีขาว เหมือนหนวดแมวยื่น โดยจะมีจำนวน 20-35 อัน รังไข่เหนือวงกลีบ รูปไข่หรือรูปรี กว้าง 1-1.5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร

    ผล เป็นผลสดรูปรี รูปกลม หรือรูปทรงกระบอก กว้าง 1.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-7 เซนติเมตร มี 4 ร่องตามยาว ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแกจะเป็นสีเหลืองแดงหรือดำ ผนังผลแข็ง เมื่อแห้งจะเหนียวคล้ายแผ่นหนัง มีก้านผลยาว 3.5-4 เซนติเมตร หนา 3-6 มิลลิเมตร เมล็ดรูปไต สีแดงหรือดำ เป็นมัน กว้างประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร อัดกันแน่นเป็นจำนวนมาก

สรรพคุณทั่วไป

  • แก้ไข้เพื่อดีและโลหิต ใช้แก้ไข้ร้อนภายในทุกชนิด แก้ไข้กาฬ แก้ไข้พิษ ช่วยกระทุ้งพิษไข้ แก้หัด แก้เหือด แก้สุกใส
  • ใช้แก้โรคที่เกิดในท้อง ช่วยขับลมให้ซ่านออกมา
  • แก้หลอดลมอักเสบ แก้ไอ ช่วยรักษาโรคกระเพาะ ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้โรคตา
  • ใช้เป็นยาบำรุงสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ช่วยถอนพิษต่างๆ ช่วยขับน้ำเหลืองเสีย แก้หืด
  • แก้โรคผิวหนัง (ตำพอก)
  • แก้อาการเจ็บในอก
  • แก้ฟกช้ำบวม
  • แก้ประดงสันนิบาต
  • แก้เหน็บชา
  • แก้มะเร็ง
  • แก้โรคในลำคอ คออักเสบ

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ชิงชี่ (Chingchi)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 107.
  2. นิจศิริ เรืองรังษี และธวัชชัย มังคละคุปต์. สมุนไพรไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ฐานการพิมพ์ จ ากัด. 2547
  3. วุฒิ วุฒิธรรมเวช. สารานุกรมสมุนไพรไทย รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: ส านักพิมพ์โอเดียนสโตร์.2540
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ชิงชี่”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 270-271.
  5. ไซมอน การ์ดเนอร์, พินดา สิทธิสุนทรและ วิไลวรรณ อนุสารสุนทร. ต้นไม้เมืองเหนือ. กรุงเทพฯ: โครงการ จัดพิมพ์คบไฟ: 2543.
  6. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. “ชิงชี่”. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. หน้า 94.
  7. นิจศิริ เรืองรังสี, ชัยศักดิ์ จันศรีนิยม, นิรันดร์ วิพันธุ์เงิน.รายงานฉบับสมบูรณ์.การศึกษาวิจัยสมุนไพรชิงชี่ เพื่อประเมินคุณค่าและความสำคัญประกอบการพิจารณาในการประกาศให้เป็นสมุนไพรควบคุมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย.กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. 25 หน้า อารีย์รัตน์ ลออปักษา, สุรัตนา อำนวยผล และวิเชียร จงบุญประเสริฐ. การศึกษาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (ตอนที่ 1). ไทยเภสัชสาร. 2531;13(1): 23-36.
  8. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2555 คัดจากราชกิจจา นุเบกษา เล่มที่ 129 ตอนพิเศษ 85 ง วันที่ 25 พฤษภาคม 2555.
  9. พรทิพย์ เต็มวิเศษ, นงนภัส เลาหวิจิตร, มณฑิรา เกษมสุข. ชิงชี่. คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในเภสัชกรรมไทยเล่ม1.กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารษสุข. กันยายน 2558 . หน้า107-108.