รางแดง
  ชื่อสามัญภาษาไทยรางแดง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษVentilago
  ชื่อวิทยาศาสตร์Ventilago denticulata Willd.
  ชื่อพ้องVentilago calyculata Tul.
  ชื่อวงศ์Rhamnaceae
  ชื่อท้องถิ่นก้องแกบ เขาแกลบ เห่าดำ ฮองหนัง ฮ่องหนัง (เลย), ปลอกแกลบ (บุรีรัมย์), เถามวกเหล็ก เถาวัลย์เหล็ก (สระบุรี), กะเลียงแดง (ชลบุรี-ศรีราชา), แสงอาทิตย์ แสงพระอาทิตย์ รางแดง (ประจวบคีรีขันธ์), ก้องแกบ ก้องแกบเครือ ก้องแกบแดง เครือก้องแกบ หนามหัน (ภาคเหนือ), เถาวัลย์เหล็ก เถามวกเหล็ก กะเลียงแดง รางแดง (ภาคกลาง), ทรงแดง (ภาคใต้), ซอแพะแหล่โม (กะเหรี่ยง), ตะแซทูเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), กะเหรี่ยงแดง, โกร่งเคอ, เคือก้องแกบ, เถาวัลย์, ย่านอีเหล็ก
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นรางแดง จัดเป็นไม้เถายืนต้นกึ่งพุ่ม มักเลื้อยตามต้นไม้และกิ่งไม้ เถาเป็นสีเทา ผิวของลำต้นหรือเถาเป็นรอยแตกระแหงเป็นร่องสีแดงสลับ ทำให้เกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม (ลำต้นเมื่อยังอ่อนจะเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อแก่แล้วจะแตกเป็นสีแดง) ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้น ๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการทาบเถา กิ่งชำ กิ่งตอน และใช้เมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามป่าโปร่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางจังหวัดสระบุรี ส่วนในกรุงเทพฯ มีการปลูกกันบ้างตามบ้าน

ใบรางแดง แผ่นใบเป็นสีเขียว ใบคล้ายกับใบเล็บมือนางหรือกะดังงาไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาว รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร ส่วนก้านใบสั้น[1],[2] เมื่อนำใบมาผิงไฟเพื่อทำยาจะมีกลิ่นคล้ายกับแกลบข้าว

ดอกรางแดง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้กับปลายยอด ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีเขียวแกมเหลืองหรือสีเขียวอมขาว

ผลรางแดง ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ผลมีรูปร่างกลม ด้านปลายผลแผ่เป็นครีบคล้ายปีกแข็ง ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

  • เป็นยายาขับเสมหะ
  • แก้ผิดสาบ ปวดเมื่อยต่างๆ
  • ทำให้ชุ่มคอ
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • ขับปัสสาวะ
  • เป็นยาอายุวัฒนะ
  • ช่วยลดคลอเลสเตอรอล
  • ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • ช่วยบำรุงเส้น แก้เส้น แก้กษัย
  • เป็นยาบำรุงกำลัง

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  เถาต้มหรือปิ้ง ชงดื่ม แก้เส้นเอ็นตึง แก้กระษัย
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ นำเถารางแดง 1 ขีด เหล้า 200 มิลลิเมตร และน้ำผึ้ง 200 มิลลิเมตร นำมาดองไว้ 15 วัน ใช้กินครั้งละ 30 มิลลิลิตร
  • ใช้เป็นยาช่วยทำให้เจริญอาหาร ให้นำเถารางแดง, ต้นกำแพงเจ็ดชั้น, ต้นขมิ้นเครือ, ต้นเถาวัลย์เปรียง และต้นนมควาย นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ช่วยลดคลอเลสเตอรอล ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยบำรุงเส้นสาย แก้เส้น แก้อาการปวดเมื่อยที่ก้นกบ ให้นำเถาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้เป็นยาขับเสมหะ ให้นำรากต้มกับน้ำดื่มรับประทาน
  • แก้ผิดสาบ ให้นำรากรางแดง, รากชะอม, รากเล็บเหยี่ยว, รากสามสิบ, แก่นจันทน์ขาว, แก่นจันทน์แดง, และเขากวาง นำมาฝนใส่น้ำแล้วดื่ม
  • นำใบต้มกับน้ำดื่มรับประทาน ช่วยทำให้ชุ่มคอ
  • นำใบมาย่างไฟให้กรอบแล้วชงดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ
  • ใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำยาสระผมแก้รังแค ซึ่งประกอบด้วยสมุนไพรอื่นๆ เช่น ใบหมี่เหม็น ส้มป่อยหรือมะนาวหรือมะกรูด และน้ำด่าง(น้ำขี้เถ้า) นำมาต้มรวมกันแล้วนำน้ำที่ได้ไปสระผม

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “รางแดง”.  หน้า 677-678.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “รางแดง”.  หน้า 221.
  3. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “รางแดงรักษาเบาหวาน?”.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพร ไม้พื้นบ้าน เล่ม 4 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th.  [29 พ.ค. 2014].
  4. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กรุงเทพฯ.  (รัฐพล ศรประเสริฐ, ภากร นอแสงศรี, อนงคณ์ หัมพานนท์).  “ผลของสารสกัดหยาบจากใบรางแดง (Ventilago denticulata Willd.) ต่อการเจริญของ Colletotrichum gloeosporioides และ Fusarium oxysporum”.
  5. ฐานข้อมู,สมุนไพรไทย จังหวัดอุตรดิตถ์.  “รางแดง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: industrial.uru.ac.th/herb/.  [29 พ.ค. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “รางแดง, เถารางแดง , เถาวัลย์เหล็ก”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพืชสมุนไพรในสวนป่าสมุนไพรเขาหินซ้อน ฉบับสมบูรณ์ (พงษ์ศักดิ์ พลเสนา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [29 พ.ค. 2014].
  7. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “งวงสุ่ม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [29 พ.ค. 2014].
  8. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Ventilago denticulata Willd.”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [29 พ.ค. 2014].
  9. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่.  “เครือเขาแกบ…พญาดาบหัก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rakkhaoyai.com.  [29 พ.ค. 2014].