ฝาง
  ชื่อสามัญภาษาไทยฝาง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษSappan tree, Sappan
  ชื่อวิทยาศาสตร์Caesalpinia sappan Linn.
  ชื่อพ้องBiancaea sappan (L.) Tod
  ชื่อวงศ์Leguminosae
  ชื่อท้องถิ่นหนามโค้ง , ฝางแดง , ขวาง (ภาคเหนือ) , ฝางเสน , ฝางส้ม (ทั่วไป),ง้าย (กะเหรี่ยง) , โซปั๊ก , ซูฟางมู่ , ซูมู่ (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นฝาง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง หรือเป็นไม้พุ่ม หรือไม้พุ่มกึ่งไม้เถาผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-13 เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็งและโค้งสั้น ๆ อยู่ทั่วไป ถ้าเนื้อไม้หรือแก่นเป็นสีแดงเข้มและมีรสขมหวานจะเรียกว่า “ฝางเสน” แต่ถ้าแก่นไม้เป็นสีเหลืองส้มและมีรสฝาดขื่นจะเรียกว่า “ฝางส้ม” พรรณไม้ชนิดนี้เป็นไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุย มักจะพบพรรณไม้ชนิดนี้ได้ตามป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และตามเขาหินปูน 

ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นออกเรียงสลับ แก่นช่อใบยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร มีช่อใบย่อยประมาณ 8-15 คู่ และในแต่ละช่อจะมีใบย่อยประมาณ 5-18 คู่ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนาน มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 8-20 มิลลิเมตร ปลายใบย่อยกลมถึงเว้าตื้น โคนใบตัดและเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ ใบเกลี้ยงหรือมีขนบ้างประปรายทั้งสองด้าน ก้านใบมีขนาดสั้นมากหรือไม่มีก้านใบ และมีหูใบยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร หลุดร่วงได้ง่าย 

ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง และจะออกรวมกันเป็นช่อ ๆ ช่อดอกยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร มีใบประดับลักษณะเป็นรูปใบหอก ร่วงได้ง่าย ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายเรียวแหลมและมีขน ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 1.2-1.8 เซนติเมตร มีขนสั้นนุ่ม มีข้อต่อหรือเป็นข้อที่ใกล้ปลายก้าน ดอกมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ กลีบเกลี้ยงที่ขอบมีขนครุย ขอบกลีบเกยซ้อนทับกัน โดยกลีบเลี้ยงล่างสุดจะมีขนาดใหญ่สุดและเว้ามากกว่ากลีบอื่น ๆ ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 6-10 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 9-12 มิลลิเมตร ผิวและขอบกลีบย่น โดยกลีบกลางจะมีขนาดเล็กกว่า มีก้าน กลีบด้านในมีขนจากโคนไปถึงกลางกลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 ก้าน แยกจากกันเป็นอิสระ ส่วนก้านชูอับเรณูมีขน รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ มีขนสั้นนุ่ม มีช่อง 1 ช่องและมีออวุล 3-6 เม็ด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนธันวาคม 

ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ฝักแบนแข็งเป็นจะงอยแหลม เป็นสีน้ำตาลเข้ม มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-8.5 เซนติเมตร และส่วนที่ค่อนมาทางโคนฝักจะสอบเอียงเล็กน้อย และด้านปลายฝักจะผายกว้างและมีจะงอยแหลมที่ปลายด้านหนึ่ง ภายในฝักมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรี มีขนาดกว้างประมาณ 0.8-1 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร โดยจะเป็นผลในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนพฤษภาคม

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้เป็นยารักษาวัณโรค
  • แก้ท้องเสีย
  • ใช้เป็นยาระบาย
  • ช่วยให้เย็นศีรษะ (ผสมกับปูนขาว)
  • ช่วยลดอาการเจ็บปวด (ผสมกับปูนขาว)
  • ใช่เป็นยาขับระดูอย่างแรง
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้ธาตุพิการ
  • แก้ร้อนใน
  • แก้โลหิตออกทางทวารหนัก
  • แก้โลหิตออกทางทวารเบา
  • แก้โลหิตตกหนัก
  • แก้เสมหะ
  • ช่วยบำรุงโลหิตสตรี
  • แก้ปวด
  • แก้บวม
  • แก้เลือดอุดตัน
  • ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก
  • ช่วยรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • แก้อาการหัวใจขาดเลือด
  • แก้จุก เสียด แน่น เจ็บหน้าอก
  • ช่วยกระจายเลือดที่อุดตัน
  • ช่วยลดอาการปวดมดลูกในสตรีหลังคลอด
  • ใช่เป็นยาสมานลำไส้
  • แก้บิด
  • แก้ฟกช้ำดำเขียว
  • แก้ปอดพิการ
  • ขับหนองในฝีอักเสบ
  • แก้ไข้ตัวร้อน
  • แก้ปวดเมื่อยร่างกาย
  • ใช่เป็นยาฝาดสมาน
  • ช่วยขับหนอง
  • ช่วยทำให้โลหิตเย็น
  • แก้กระหายน้ำ
  • แก้คุดทะราด
  • แก้กำเดาไหล
  • รักษาโรคผิวหนังบางชนิด
  • แก้ความผิดปกติของอาโปธาตุหรือธาตุน้ำ

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • บำรุงโลหิต แก้ร้อนใน กระหายน้ำ แก้ท้องร่วง แก้เสมหะ เลือดกำเดา แก้ไอ คุมกำเนิด แก้ไข้ แก้หอบ แก้ช้ำ ฟอกโลหิต โดยใช้แก่นฝางหนัก 3-9 กรัม ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว (500 มิลลิลิตร) เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว หรือใช้แก่นฝาง 1 ส่วน น้ำ 20 ส่วน ต้มเคี่ยว 15 นาที รับประทานครั้งละ 2-4 ช้อนโต๊ะ
  • ขับประจำเดือนใช้แก่นฝาง 5-15 กรัม หรือ 5-8 ชิ้น ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เติมเนื้อมะขามที่ติดรกอยู่ (แกะเมล็ดออกแล้ว) ประมาณ 4-5 ฝัก เคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว รับประทาน เช้า-เย็น
  • บำรุงร่างกายทั้งบุรุษและสตรี แก้ประดง โดยใช้แก่นฝาง แก่นไม้แดง รากเดื่อหอมอย่างละเท่ากัน นำมาต้ม หรือใช้แก่นฝางตากแห้งผสมกับเปลือกต้นนางพญาเสือโคร่ง ตานเหลือง ข้าวหลามดง โด่ไม่รู้ล้มต้มน้ำ ม้ากระทืบโรง มะตันขอ ไม้มะดูก หัวข้าวเย็น และลำต้นฮ่อสะพายควาย ต้มกับน้ำดื่ม หรืออีกตำรับระบุให้ใช้แก่นฝาง กำลังช้างสาร ม้ากระทืบโรง และรากกระจ้อนเน่าอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำดื่ม และอีกตำรับระบุให้ใช้แก่นฝาง 1 บาท, ดอกคำไทย 2 สลึงนำมาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เอา 1 แก้ว ใช้แบ่งกินเช้า, เย็น
  • แก้กษัยให้ใช้แก่นฝาง เถาวัลย์เปรียง และรากเตยอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำกิน หรืออาจเติมน้ำตาลให้พอหวานเพื่อช่วยทำให้รสชาติดีขึ้นด้วยก็ได้
  • แก้ไข้ตัวร้อน ให้ใช้แก่นฝาง 70 กรัม, ผงโกฐน้ำเต้า 30 กรัม, และน้ำประสานทองบดเป็นผง 15 กรัม นำมารวมกันต้มให้เป็นน้ำเหลวแล้วเติมเหล้าเข้าผสม ใช้กินครั้งละ 30 ซีซี วันละ 2 ครั้ง
  • แก้ไข้ทับระดูใช้ฝางเสน เกสรบัวหลวง แก่นสน รากลำเจียก รากมะพร้าว รากมะนาว รากเท้ายายม่อม รากย่านาง ดอกบุนนาค ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกสารภี จันทน์ขาว จันทน์แดง สักขี อย่างละ 1 บาท นำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำร้อน ใช้จิบครั้งละ 1 ช้อนชา โดยให้จิบบ่อย ๆ จนกว่าไข้จะสงบ
  • แก้อาการไอ แก้หวัด ใช้แก่นฝางหนัง 3 บาท, ตะไคร้ 3 ต้น ทุบให้ละเอียด, น้ำ 1 ลิตร ใส่น้ำปูนใสเล็กน้อยแล้วต้มพอให้ได้น้ำยาสีแดง ใช้รับประทานครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 เวลา หรืออาจผสมน้ำตาลกรวดด้วยก็ได้
  • แก้โรคหืดหอบ ใช้แก่นฝางเสน, แก่นแสมสาร, เถาวัลย์เปรียง, ใบมะคำไก่ อย่างละ 2 บาท 2 สลึง ใส่น้ำพอท่วมยา แล้วต้มให้เดือด 10 นาที นำมากินต่างน้ำให้หมดภายในวันนั้น พอวันต่อมาให้เติมน้ำเท่าเดิม ต้มเดือด 5 นาทีแล้วกินเหมือนวันแรก ต้มกินจนยาจืดประมาณ 5 วัน แล้วค่อยเปลี่ยนยาใหม่ โดยให้ต้มกินไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหาย
  • แก้บวม ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียว แก้ช้ำใน ใช้แก่นฝาง 60 กรัม นำมาบดเป็นผงผสมกับเหล้า แบ่งกิน 3 ครั้ง ใช้กินตอนท้องว่าง
  • รักษาน้ำกัดเท้า ใช้แก่นฝาง 2 ชิ้น ฝนกับน้ำปูนให้ข้นๆ ทาบริเวณที่น้ำกัดเท้า จะช่วยฆ่าเชื้อได้เพราะ ในแก่นฝางมีตัวยาฝาดสมาน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. โสภา  คำมี.ฝาง.ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.หน้า1-4
  2. เต็ม สมิตินันท. 2544.  ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : บริษัทประชาชนจํากัด.
  3. ฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของฝาง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. นันทวัน บุณยะประภัศร บรรณาธิการ.2542.สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 3. กรุงเทพฯ บริษัท ประชาชน จำกัด
  5. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ฝาง”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 516-517.
  6. อรุณพร  เหมือนวงศ์ญาติ.2537.สมุนไพรก้าวใหม่.กรุงเทพฯเมดิคัลมีเดีย
  7. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ฝาง”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 362.
  8. หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง.  “ฝาง”.  (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ).  หน้า 113.
  9. แก่นฝางช่วยรักษาข้ออักเสบ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ และคณะ. ทรัพยากรพืชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3: พืชให้สีย้อมและแทนนิน. กทม. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย. 2544. หน้า 71 – 72
  11. พเยาว์ เหมือนวงศ์ญาติ.2537.สมุนไพรก้าวใหม่.กรุงเทพฯเมดิคัลมีเดีย
  12. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ฝาง Sappan Tree”.  หน้า 69.
  13. ผลของ brazilin จากฝางในการยับยั้งการสร้าง Fructose-2,6-biphosphate .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  14. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ฝาง (Fang)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 184.
  15. ฝาง.ฐานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=241
  16. ฝาง.สมุนไพรให้สีแต่งอาหารสีอาหาร.สรรพคุณสมุนไพร200ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จากhttp://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_30_3htm.
  17. ฝาง.ฐานข้อมูลสมุนไพรเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=88