ทับทิม
  ชื่อสามัญภาษาไทยทับทิม
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษPomegranate
  ชื่อวิทยาศาสตร์Punica granatum L.
  ชื่อพ้องPunica nana
  ชื่อวงศ์Lythraceae
  ชื่อท้องถิ่นเซี๊ยะลิ้ว(จีน), พิลา (หนองคาย), พิลาขาว, มะก่องแก้ว (น่าน), มะเก๊าะ (เหนือ), หมากจัง (แม่ฮ่องสอน) Granada (สเปน), Darim (อินเดีย)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ทับทิมเป็นไม้ยืนต้น หรือพรรณไม้พุ่ม ขนาดเล็ก ลักษณะผิวเปลือกลำต้นเป็นสีเทา ส่วนที่เป็นกิ่งหรือยอดอ่อนจะเป็นเหลี่ยม หรือ มีหนามแหลมยาวขึ้น 

ใบ ใบมีลักษณะเป็นรูปยาวรี โคนใบมน แคบ ส่วนปลายใบเรียวแหลมสั้น ผิวหลังใบ เกลี้ยงเป็นมัน ใต้ท้องใบจะเห็นเส้นใบได้ชัด ขนาดของใบกว้างประมาณ 1 - 1.8 ซม. ยาว ประมาณ 2.5 - 6 ซม. 

ดอก ดอกออกเป็นช่อ หรืออาจจะเป็น ดอกเดียว ในบริเวณปลายยอด หรือง่ามกิ่ง ลักษณะของดอกมีเป็น สีส้ม สีขาว หรือสีแดง ดอกหนึ่งมีกลีบดอกประมาณ 6 กลีบ ปลายกลีบ ดอกจะแยกออกจากกัน ตรงกลางดอกมีเกสร ตัวเมีย และตัวผู้ซึ่งมีอับเรณูเป็นสีเหลือง ขนาดของดอกบานเต็มที่มีเส้นผ้าศูนย์กลางประมาณ 2 - 3 ซม. 

ผลมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้าง กลม ผิวเปลือกนอกหนาเกลี้ยง ผลเมื่อแก่หรือ สุกเต็มที่มีสีเหลืองปนแดง และลักษณะของผล จะแตก หรืออ้างออก ข้างในผลก็จะมีเมล็ดเป็น จำนวนมาก เป็นรูปเหลี่ยม มีสีชมพูสด 

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบ อมกลั้วคอ ทำยาล้างตา 
  • ดอก ใช้ห้ามเลือด 
  • เปลือกและผลแห้ง เป็นยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน แก้บิด แก้โรคลักกะปิดลักกะเปิด 
  • เปลือกต้นและเปลือกราก ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด, พยาธิตัวกลม 
  • เมล็ด แก้โรคลักกะปิดลักกะเปิด

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ถ่ายพยาธิตัวตืดและพยาธิตัวกลม ได้ผลดี ใช้เปลือกสดของราก, ต้น ที่เก็บใหม่ๆ 60 กรัม หรือประมาณ 1/2 กำมือ เติมกานพลูหรือกระวานลงไปเล็กน้อย เพื่อแต่งรส ต้มกับน้ำ 3 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 1/2 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (30 ซี.ซี.) หลังจากนั้นประมาณ 2 ชั่วโมง รับประทานยาถ่าย เช่น ดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะตาม ควรอดอาหารก่อนรับประทานยา ยาแก้ท้องร่วง ท้องเดิน (ไม่ใช่บิด หรือ อหิวาตกโรค) 
  • ใช้เปลือกผล ตากแดดให้แห้ง ประมาณ 1/4 ของผล ฝนกับน้ำฝนหรือน้ำปูนใสให้ข้นๆ รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนแกง หรือต้มกับน้ำปูนใส แล้วดื่มน้ำที่ต้มก็ได้ บิด (มีอาการปวดเบ่ง และมีมูก 
  • หรืออาจมีเลือดด้วย) ใช้เปลือกผลแห้งของทับทิม ครั้งละ 1 กำมือ (3-5 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มวันละ 2 ครั้ง อาจใช้กานพลูหรืออบเชยแต่งกลิ่นให้น่าดื่มก็ได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร “ติ้วขน“. อ้างอิงใน : หนังสือไม้อเนกประสงค์กินได้ (คณะอนุกรรมการประสานงานวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และไม้โตเร็วอเนกประสงค์)
  2. หนังสือผักพื้นบ้านภาคอีสาน (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข)
  3. หนังสือผักพื้นบ้านภาคเหนือ (สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable. [16 ม.ค. 2014].