ตีนเป็ด
  ชื่อสามัญภาษาไทยตีนเป็ด
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษDevil Tree, Pong pong
  ชื่อที่เกี่ยวข้องสัตบรรณ, สัตตบรรณ, จะบัน, บะซา, ปูลา, ปูแล, ตีนเป็ด, ตีนเป็ดขาว, ตีนเป็ดไทย และ ต้นตีนเป็ด
  ชื่อวิทยาศาสตร์Cerbera odollam Gaertn.
  ชื่อวงศ์Apocynaceae
  ชื่อท้องถิ่นพะเนียงน้ำ (กาญจนบุรี) สั่งลา (กระบี่) ตีนเป็ด ตีนเป็ดทะเล (ภาคกลาง) มะตะกอ (มลายู-นราธิวาส)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นตีนเป็ด จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก ทรงร่ม เรือนยอดเป็นทรงกลมทึบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกกิ่งต่ำ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทา มีช่องระบายอากาศเป็นร่องยาว มีน้ำยางสีขาวข้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดแก่ (เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด) ปลูกได้ดีในดินทั่วไป ชอบแสงแดดเต็มวัน เจริญเติบโตได้เร็ว ไม่ต้องการการดูแลมาก มักพบขึ้นตามบริเวณริมน้ำ ตามป่าชายเลน ป่าบึงน้ำจืด และป่าชายหาด 

ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกันหนาแน่นที่ปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปรียาวหรือเป็นรูปใบหอกแกมรูปไข่ ปลายใบมีติ่งหรือหางใบแหลม โคนใบสอบหรือเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.4-8 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8.9-30 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน มีเส้นแขนงใบประมาณ 12-25 เส้น เห็นเส้นใบได้ชัดเจน ส่วนท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ช่อดอกยาวประมาณ 8-35 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกหลายดอก ประมาณ 10-14 

ดอก ดอกย่อยเป็นสีขาว ดอกมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ก้านดอกยาวประมาณ 1-4 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5 กลีบ เรียงซ้อนทับกันด้านซ้ายในตาดอก ปลายกลีบดอกแหลม ดอกบานมีแต้มเหลืองรอบปากหลอดกลีบดอก หลอดกลีบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร แฉกกลีบยาวประมาณ 1.2-3.8 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 ก้านติดกลางหลอดกลีบดอก ส่วนกลีบรองดอกหรือกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปแถบหรือรูปใบหอก กลีบยาวประมาณ 0.8-2.5 เซนติเมตร ปลายกลีบเรียวแหลม เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 6-7 เซนติเมตร 

ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม หรือค่อนข้างกลมรีเป็นสองพูตื้น ๆ ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ มีขนาดกว้างประมาณ 6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเนียนเป็นมันและมีจุดเล็ก ๆ สีขาวกระจายทั่วไป ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้มถึงสีม่วงเข้ม ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดแข็ง เบา และลอยน้ำได้

สรรพคุณทั่วไป

  • ดอกตีนเป็ด แก้เลือดพิการ แก้ไข้ ตัวร้อน โดยนำดอกตีนเป็ดมาต้มกับน้ำ แล้วดื่มแก้อาการผิดปกติ 
  • ใบตีนเป็ด แก้ไข้หวัด แก้ไข้ ตัวร้อน รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน โรคลักปิดลักเปิด หรือโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยนำใบมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม นอกจากนี้ใบตีนเป็ดยังนำมาตำแล้วพอกเพื่อดับพิษต่าง ๆ ได้ด้วย 
  • เปลือกตีนเป็ด คนโบราณมักจะนำเปลือกตีนเป็ดมาต้มกับน้ำ ใช้ทั้งกินทั้งอาบ โดยเปลือกตีนเป็ดมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ดีพิการ แก้บิด ขับพยาธิไส้เดือน แก้ไข้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ สมานลำไส้ เจริญอาหาร โดยใช้ต้มกับน้ำเป็นยาขม หรือบางคนนำเปลือกตีนเป็ดมาต้มกับน้ำแล้วอาบแก้อาการน้ำเหลืองเสีย รักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง และรักษาเชื้อราบนผิวหนัง 
  • ยางตีนเป็ด สามารถนำยางต้นตีนเป็ดไปผสมกับน้ำมันสมุนไพร แล้วนำมานวดแก้ปวดหู บำรุงร่างกาย หรือจะใช้ยางต้นตีนเป็ดใส่แผลที่เป็นตุ่มหนอง ช่วยให้แผลแห้งเร็วก็ได้ อีกทั้งยังสามารถนำยางต้นตีนเป็ดมาอุดฟัน หยอดล้างหูก็ได้เช่นกัน 
  • กระพี้ต้นตีนเป็ด ขับผายลม ขับเลือดให้ตก โดยนำกระพี้มาต้มกับน้ำแล้วดื่ม 
  • รากตีนเป็ด ช่วยขับผายลมในลำไส้ แก้ไข้ แก้น้ำดีผิดปกติ โดยนำรากตีนเป็ดมาต้มกับน้ำ ดื่มเป็นยาบรรเทาโรค

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ยางตีนเป็ด นำไปผสมกับน้ำมันสมุนไพร หยอดหู ช่วยรักษาอาการปวดหู 
  • นำน้ำยางมาใช้อุดฟันเพื่อแก้อาการปวดฟัน 
  • ช่วยบำรุงกระเพาะ รักษาแผลที่เป็นตุ่มหนอง ช่วยทำให้แผลแห้งเร็ว

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง Thai Herbal พืชเกษตร