ฝรั่ง
  ชื่อสามัญภาษาไทยฝรั่ง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษGuava
  ชื่อวิทยาศาสตร์Psidium guajava Linn.
  ชื่อวงศ์Myrtaceae
  ชื่อท้องถิ่นภาคเหนือ มะก้วยกา, มะมั่น เชียงใหม่ มะก้วย ละว้า-เชียงใหม่ ยะริง แม่ฮ่องสอน มะกา ตาก มะจีน ภาคกลาง ฝรั่ง นครพนม สีดา มลายู-นราธิวาส ยะมูบุเตบันยา ภาคใต้ ยามุ, ย่าหมู สุราษฎร์ธานี จุ่มโป ปัตตานี ชมพู่
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ฝรั่งเป็นไม้ต้น ขนาดเล็ก สูงประมาณ 3 - 10 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเกลี้ยง สีเหลืองอ่อนออกสีเทา กิ่งอ่อนเป็นสี่เหลี่ยม มีขนสีขาวสั้นๆ และเปลือกต้นจะหลุดลอกออกเป็นแผ่นเมื่อกิ่งแก่ 

ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามเป็นคู่ ลักษณะใบรูปไข่หรือรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบมน ขอบใบเรียบ โคนใบมน แผ่นใบสีเขียว หนา หยาบ มีเส้นแขนงใบ 7 - 11 คู่ สีเขียวอ่อนปนขาว ท้องใบหรือใต้ใบมีขนสีขาวอ่อนนุ่ม และเห็นเส้นใบชัดเจน 

ดอก ออกดอกเป็นช่อๆ ละ 2 - 4 ดอก หรือเป็นดอกเดี่ยว ตามซอกใบ ดอกขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ สีเขียว ส่วนกลีบดอกมีสีขาวอมเขียวอ่อน หลุดร่วงง่าย 

ผล เป็นผลเดี่ยวแบบมีหลายเมล็ด รูปทรงเกือบกลม ผิวเรียบเกลี้ยง ผลอ่อนสีเขียวอ่อนหรือเขียวแก่ ผลสุกจะเป็นสีเหลือง เนื้อผลส่วนมากมีสีเหลือง ขาว ชมพู เมล็ด มีขนาดกลมเล็ก และแข็ง สีเหลือง จำนวนมาก

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบ รสฝาด ใช้ใบสดย่างไฟให้เกรียม ต้มน้ำหรือชงน้ำดื่มแก้โรคท้องเดิน โรคบิด แก้ปวดเบ่ง หรือโขลกคั้นเอาน้ำล้างแผล หรือใช้กากพอกแผล ช่วยถอนพิษบาดแผล
  • ใช้เคี้ยวใบสด 2 - 3 ใบ แล้วคายทิ้งระงับกลิ่นปาก แก้ปวดฟัน อมแก้เหงือกบวมได้
  • ใบแก่ใช้เผาแล้วต้มน้ำดื่มแก้ท้องร่วง ใบแก่มีฤทธิ์แก้ท้องเสีย มีฤทธิ์ฝาดสมาน และระงับกลิ่นปาก 
  • ยอด รสฝาด ใช้ปิ้งไฟชงน้ำดื่มแก้ท้องร่วง แก้เสมหะพิการ แก้บิด ปวดเบ่ง กินแก้พิษ และดับกลิ่นเหล้า 
  • ผลอ่อน รสฝาด ใช้ผลอ่อน 1 ลูก ฝนกับน้ำปูนใสดื่มเป็นยาแก้อาการท้องเดิน แก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง และบิดเรื้อรัง 
  • ผลสุก รสหวาน ดับกลิ่นเหม็น ระบายท้อง 
  • ราก รสฝาดเฝื่อน ต้มเอาน้ำดื่มแก้น้ำเหลืองเสีย ช่วยดูดน้ำเหลือง ทำให้น้ำเหลืองแห้ง บดเป็นยาสมานแผลในกระเพาะ หรือต้มรวมกับสะเดา เพื่อใช้รสขมลดลง 
  • ทั้งห้า รสฝาดเย็น โขลกพอกดูดน้ำเหลืองน้ำหนอง ถอนพิษบาดแผล ดูดกลิ่น

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • แก้ลำไส้อักเสบ บิด ใช้ใบสด 30-60 กรัม ต้มน้ำกิน แก้กระเพาะลำไส้อักเสบเฉียบพลันและท้องเสีย ที่เกิดจากการย่อยไม่ดี ใช้ใบแห้งหนัก 10-15 กรัม ต้มน้ำกิน 
  • แก้บาดแผลเกิดจากการหกล้มหรือกระทบกระแทกหรือบาดแผลมีเลือดออก ใช้ใบสดตำพอกแผลภายนอก 
  • แก้ปวดฟัน ใช้เปลือกรากผสมน้ำส้มสายชูต้มเอามาอมแก้ปวดฟัน
  • แก้เด็กเป็นแผลเล็กแผลน้อยเรื้อรัง ใช้เปลือก ราก ต้มร่วมกับขนไก่ เอามาชะล้างบาดแผล 
  • แก้ผิวหนังเป็นผดผื่นคัน ใช้เปลือกต้นสดและใบต้นเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น 
  • แก้ท้องร่วง ใช้ใบหรือผลดิบ ต้มกินต่างชา (ใบแห้ง 5 กรัม ใส่น้ำ 100 มล.) ใช้สวนล้างช่องคลอดหลังคลอด ใช้น้ำต้มจากใบสดอุ่นๆ สวนล้าง 
  • ใช้ในการดับกลิ่นปาก ด้วยการนำใบสด 3-5 ใบมาเคี้ยวแล้วคายกากทิ้ง ช่วยรักษาอาการเสียงแห้ง
  • แก้คออักเสบ โดยการใช้ผลที่ตากแห้งต้มน้ำกิน ยอดอ่อนๆ ปิ้งไฟให้เหลืองกรอบ ชงน้ำกิน
  • แก้ท้องร่วง บิด ใบสดเคี้ยวอมดับกลิ่นบุหรี่ เหล้า และกลิ่นปากได้ดี

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. อ.โชติอนันต์ และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. หน้า 138
  2. https://www.med.tu.ac.th/department/attm/?p=2132