รัก
  ชื่อสามัญภาษาไทยรัก
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCrown flower, Giant Indian Milkweed, Giant Milkweed, Tembega
  ชื่อที่เกี่ยวข้องอรัก
  ชื่อวิทยาศาสตร์Calotropis gigantea (L.) Dryand.
  ชื่อพ้องCalotropis gigantea (L.) R. Br. ex Schult.
  ชื่อวงศ์Apocynaceae
  ชื่อท้องถิ่นรักขาว รักเขา รักซ้อน (เพชรบูรณ์), ปอเถื่อน ป่านเถื่อน (ภาคเหนือ), รัก รักดอก รักดอกขาว รักดอกม่วง (ภาคกลาง), รักร้อยมาลัย, รักแดง
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นรัก จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กหรือเป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร ลำต้นมีเนื้อไม้ แตกกิ่งก้านมากที่โคนต้น และจะแตกกิ่งก้านสาขาแผ่ออกทางด้นข้างพอ ๆ กับส่วนสูงของลำต้น เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาคล้ายขี้เถ้า แตกเป็นร่องตามยาว กิ่งจะไม่มีเนื้อไม้ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนละเอียดสีขาวปกคลุมอยู่หนาแน่น และทุกส่วนของต้นมียางสีขาวข้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำ ต้นรักเป็นพืชที่ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี โดยเฉพาะในสภาพดินที่ไม่สมบูรณ์และมีความแห้งแล้ง เราจึงมักพบต้นรักขึ้นได้เองตามธรรมชาติทั่วไป ตามที่รกร้าง บริเวณข้างถนน ริมถนน ริมทางรถไฟ ริมคลอง และตามหมู่บ้าน โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงพม่า ไทย จีน คาบสมุทรมลายู ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และนิวกินี 

ใบรัก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-30 เซนติเมตร แผ่นใบหนาอวบน้ำ หลังใบและท้องใบมีขนสีขาวปกคลุม เมื่อกระทบแสงจะสะท้อนเป็นสีเหลืองนวล ใบไม่มีก้านใบ หรือมีก้านใบสั้น 

ดอกรัก ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม โดยจะออกตามซอกใบใกล้ส่วนยอดหรือตามปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตรดอกเป็นสีขาว สีม่วง หรือสีม่วงแดง (สีขาวอมม่วงก็มี) มีกลีบดอก 5 กลีบ กลีบดอกผิวเกลี้ยง แต่ละกลีบเป็นรูปรีถึงรูปใบหอก ปลายแหลมหรืออาจบิด กว้างประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ส่วนโคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน หลอดกลีบดอกสั้น และมีรยางค์ลักษณะเป็นรูปมงกุฎขนาดใหญ่อยู่ตรงกลางดอก มี 5 แฉก อวบน้ำ เชื่อมติดกัน (นิยมนำมาแยกใช้ร้อยเป็นพวงมาลัย) สั้นกว่าเส้าเกสรเพศผู้ ปลายมน มีติ่งมนทางด้านข้าง ฐานเป็นเดือย และอับเรณูมีเยื่อบางหุ้ม ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปไข่กลับ ปลายแหลม กว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร และมีขนนุ่มปกคลุม สามารถออกดอกและติดผลได้ตลอดปี แต่จะออกมากในช่วงฤดูร้อน 

ผลรัก ออกผลเป็นฝักติดกันเป็นคู่ ๆ ลักษณะของฝักเป็นรูปรีโค้ง ปลายฝักแหลมงอ มีขนาดกว้างประมาณ 2.58-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ผิวเป็นคลื่น ผิวฝักมีนวลสีขาวเหนียวมือ ฝักอ่อนเปลือกสีขาว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแลแตกออก ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็กจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดแบนเป็นสีน้ำตาล ยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร และมีขนสีขาวติดอยู่เป็นกระจุกที่ปลายของเมล็ด ยาวประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร และสามารถปลิวไปตามลมได้ไกล

สรรพคุณทั่วไป

  • ดอกมีรสเฝื่อน สรรพคุณช่วยทำให้เจริญอาหาร 
  • ต้นมีรสเฝื่อนขม มีสรรพคุณช่วยบำรุงทวารทั้งห้า 
  • ยางจากต้นเป็นยาแก้อาการปวดหู ปวดฟัน 
  • รากใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้เหนือ ช่วยแก้อาการไอ อาการหวัด แก้หอบหืด ช่วยทำให้อาเจียน ช่วยขับเหงื่อ 
  • เปลือกรากมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะได้ ช่วยในการย่อย ใช้เป็นยารักษาโรคบิด 
  • ยางขาวจากต้นมีฤทธิ์เป็นยาถ่ายอย่างแรง ใช้เป็นยาขับพยาธิ โดยใช้ยางขาวจากต้นนำมาทาตัวปลาช่อนแล้วย่างไฟให้เด็กกินเป็นยาเบื่อพยาธิไส้เดือน ช่วยแก้ริดสีดวงในลำไส้ 
  • ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร 
  • ยางขาวจากต้นมีฤทธิ์เป็นยาขับเลือด ทำให้แท้งได้ 
  • เปลือกต้นมีสรรพคุณช่วยขับน้ำเหลืองเสีย 
  • ยางไม้ใช้ใส่แผลสดเป็นยาฆ่าเชื้อ ช่วยแกคุดทะราด ช่วยแก้กลากเกลื้อน 
  • น้ำยางจากต้นใช้รักษาโรคเรื้อน 
  • ผลหรือฝัก ใช้แก้รังแคบนหนังศีรษะ 
  • ใบสดใช้เป็นยาพอกเพื่อบรรเทาอาการของโรคไขข้อ

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “รัก (Rug)”.  หน้า 258.
  2. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 272 คอลัมน์: ต้นไม้ใบหญ้า.  “รัก ชื่อนั้นสำคัญยิ่งนัก”.  (เดชา ศิริภัทร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doctor.or.th.  [28 พ.ค. 2014].
  3. ระบบวินิจฉัยและการรักษาอาการอันเนื่องจากพืชพิษในประเทศไทย, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “รัก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/.  [28 พ.ค. 2014].
  4. หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 5.  “รัก”.
  5. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “รักดอก”.  อ้างอิงใน: Nordic Journal of Botany, Volume 11, No.3, Page 306-307.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [28 พ.ค. 2014].
  6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.  (กาญจนา เหลืองสุวาลัย, ศิริชัน อริยานนท์ภิญโญ, นิพนธ์ ทรัพย์ทิพย์).  “การยืดอายุการเก็บรักษาดอกรัก”.
  7. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  (สุภาภรณ์ เยื้อนหนูวงค์).  “ต้นรัก”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [28 พ.ค. 2014].
  8. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “รัก (ไม้พุ่ม)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org.  [28 พ.ค. 2014].
  9. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “รัก”.  หน้า 673-674.
  10. หนังสือเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วิฒิธรรรมเวช).  “รัก”.