เสนียด
  ชื่อสามัญภาษาไทยเสนียด
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษAdhatoda, Vassica, Malabar Nut Tree
  ชื่อวิทยาศาสตร์Justicia adhatoda L.
  ชื่อพ้องAdhatoda adhatoda (L.) Huth, Adhatoda vasica Nees, Adhatoda zeylanica Medik., Ecbolium adhatoda (L.) Kuntze, Gendarussa adhadota Steud.
  ชื่อวงศ์Acanthaceae
  ชื่อท้องถิ่นโบราขาว (เชียงใหม่), หูหา (เลย), หูรา (นครปฐม, นครพนม), กุลาขาว บัวลาขาว บัวฮาขาว (ภาคเหนือ), โมรา เสนียดโมรา (ภาคกลาง), กระเหนียด (ภาคใต้), กระเนียด (ทั่วไป), ชิตาโหระ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), จะลึ้ม (ปะหล่อง), เจี่ยกู่เฉ่า ต้าปั๋วกู่ ยาจุ่ยฮวา (จีนกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ต้นเสนียด จัดเป็นไม้พุ่ม ที่มีความสูงของต้นประมาณ 1.4-3 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามากมายรอบ ๆ ต้นเป็นพุ่มทึบ ยอดกิ่งอ่อนมีขนเล็กน้อย ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการปักชำ จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในดินที่ร่วนซุยและมีความชุ่มชื้นปานกลาง พบได้มากในแถบป่าเต็งรัง

    ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปรีใหญ่ หรือเป็นรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบแหลมสอบหรือเรียวมนรี ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร พื้นใบเป็นสีเขียวและมีขนอ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร

    ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามง่ามใบใกล้กับปลายยอด ช่อดอกจะรวมกันเป็นแท่ง ก้านช่อดอกยาวประมาณ 10 เซนติเมตร ดอกมีใบประดับสีเขียวหุ้มดอกเรียงซ้อนกันเป็นชั้นเดียว ดอกย่อยของเสนียดกลีบดอกเป็นสีเขียว ดอกย่อยมีกลีบยาวประมาณ 1.2-1.4 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร กลีบดอกเป็นสีขาว มีเส้นสีม่วง ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายปากแยกแบ่งเป็นกลีบล่างและกลีบบน มี 2 กลีบ ส่วนบนมีรอยแยก 2 แฉกสีขาว ส่วนล่างมีรอยแยกเป็นแฉก 3 แฉกสีขาวปะม่วง ดอกมีเกสรเพศผู้ 2 อัน ยื่นออกมา ก้านเกสรเพศเมียจะสั้นกว่า เกสรเพศผู้เป็นเส้นกลมยาว ที่ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก
    
    ออกผลเป็นฝัก ยาวได้ประมาณ 2 เซนติเมตร และมีขน ภายในพบเมล็ด 4 เมล็ด ผลเป็นผลแห้ง และแตกออกได้ แต่ไม่ติดผล

สรรพคุณทั่วไป

  • รากมีรสขม ใช้ปรุงเป็นยาแก้วัณโรค
  • ทั้งต้นมีรสเผ็ดขมเล็กน้อย เป็นยาสุขุม ไม่มีพิษ ใช้เป็นยาฟอกเลือด และกระจายเลือด
  • ใบใช้เข้ายาที่เกี่ยวกับการบำรุงโลหิต
  • รากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงปอด ช่วยทำให้หายใจได้ดีขึ้น ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม
  • ใบแห้งนำมาหั่นมวนเป็นบุหรี่สูบ ช่วยแก้หอบหืด
  • ส่วนต้น ราก ใบ และดอกก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้หอบหืดเช่นกัน
  • ชาวกะเหรี่ยงเชียงใหม่จะใช้รากมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยารักษาโรคหอบหืด
  • ใบมีรสขมสุขุม มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  ก้านใบแก้หอบหืด ไอ
  รากขับเสมหะ
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ช่วยแก้อาการไอ ตำรายาแก้ไอและขับเสมหะจะใช้น้ำคั้นจากใบสดประมาณ 15 มิลลิลิตร นำมาผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำขิงสดดื่มกินเป็นยา
  • ต้น ราก ใบ และดอกมีรสขม สรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ ตัวยาของต้นเสนียดจะมีฤทธิ์ลดอาการระคายเคืองของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ถ้ากินมากเกินขนาดจะทำให้อาเจียนและมีอาการท้องเดิน
  • ใบใช้ต้มกับน้ำอาบหลังจากหญิงคลอดบุตร หรือใช้เข้ายากรณีประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ
  • ส่วนชาวปะหล่องจะใช้ใบหรือรากนำมาต้มกับน้ำให้สตรีหลังคลอดบุตรอาบ รวมไปถึงคนที่ป่วยมาเป็นเวลานาน ไม่ค่อยมีแรง จะช่วยทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
  • ใบนำมาต้มกับน้ำอาบช่วยแก้ลมผิดเดือนของสตรี (น่าจะเป็นโรคประสาทชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากความเครียดระหว่างการอยู่ไฟของสตรี)
  • ทั้งต้นมีสรรพคุณแก้ประจำเดือนมามากเกินไป หรือประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ
  • ตำรับยาแก้ปวดบวม ฟกช้ำดำเขียว แก้กระดูกร้าว แก้ปวดบวม หรือปวดตามข้อ รวมถึงเหน็บชาอันเนื่องมาจากลมชื้น ให้ใช้ต้นเสนียดสด 60 กรัม, เถ้ากุเสียว 30 กรัม, เจ็กลั้ง 30 กรัม, เจตพังคี 20 กรัม และหญ้าผีเสื้อบิน 20 กรัม นำมารวมกันแล้วคั่วกับเหล้าให้ร้อน ใช้เป็นยาประคบบริเวณที่เป็น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “เสนียด (Sa Niat)”.  หน้า 306.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “เสนียด”.  หน้า 37.
  3. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “เสนียด”.  หน้า 787-789.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “เสนียด”.  หน้า 558.
  5. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “เสนียด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [13 มิ.ย. 2014].
  6. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “เสนียด”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 มิ.ย. 2014].
  7. ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.  “Justicia adhatoda L.”.  อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน เล่ม 4 หน้า 665.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org.  [13 มิ.ย. 2014].
  8. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร, กรมวิชาการเกษตร.  “เสนียด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doa.go.th/hrc/chumphon/.  [13 มิ.ย. 2014].
  9. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “เสนียด, MALABAR NUT”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org.  [13 มิ.ย. 2014].
  10. ฐานข้อมูลความปลอดภัยของสมุนไพรที่มีการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณ, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เสนียด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th/poisonpr/.  [13 มิ.ย. 2014].