ขิงแครง
  ชื่อสามัญภาษาไทยขิงแครง
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษGinger
  ชื่อที่เกี่ยวข้องขิงป่า
  ชื่อวิทยาศาสตร์Zingiber officinale Roscoe.
  ชื่อพ้องAmomum angustifolium Salisb., Amomum zingiber L., Amomum zinziba Hill, Zingiber aromaticum Noronha, Zingiber cholmondeleyi (F.M.Bailey) K.Schum., Zingiber missionis Wall., Zingiber officinale var., cholmondeleyi F.M.Bailey, Zingiber officinale f. macrorhizonum (Makino) M.Hiroe, Zingiber officinale f. rubens (Makino) M.Hiroe, Zingiber officinale var. rubrum Theilade, Zingiber sichuanense Z.Y.Zhu, S.L.Zhang & S.X.Chen
  ชื่อวงศ์Zingiberaceae
  ชื่อท้องถิ่นขิงแกลง ขิงแดง (จันทรบุรี)/ ขิงเผือก (เชียงใหม่)/ สะเอ (แม่ฮ่องสอน)/ ขิงบ้าน ขิงแครง ขิงป่า ขิงเขา ขิงดอกเดียว (ภาคกลาง)/ เกีย (จีนแต้จิ๋ว)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นขิงแครง เป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน ลักษณะเป็นแง่งเล็ก สั้น ข้อถี่ เนื้อมีเสี้ยนมาก และรสค่อนข้างเผ็ด เมื่อลอกเปลือกออกแล้วมีสีน้ำเงินหรือน้ำเงินปนเขียว ตาบนแง่งมีลักษณะแหลม เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอประกอบด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกัน  ลำต้นสูงพ้นพื้นดินขึ้นมาประมาณ 50-100 เซนติเมตร

ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว ใบรูปหอกเกลี้ยงๆ กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร หลังใบห่อจีบเป็นรูปรางนำปลายใบสอบเรียวแหลม โคนใบสองแคบและจะเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม ตรงช่วงระหว่างกาบกับตัวใบจะหักโค้งเป็นข้อศอก

ดอก ออกดอกเป็นช่อรูปเห็ดหรือกระบองโบราณสีขาว แทงขึ้นมาจากเหง้า ชูก้านสูงขึ้นมาประมาณ 15-25 เซนติเมตร ทุกๆ ดอกที่กาบสีเขียวปนแดงรูปโค้งๆ ห่อรองรับ กาบจะปิดแน่นเมื่อดอกยังอ่อน และจะขยายอ้าให้ เห็นดอกในภายหลัง กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอก มีอย่างละ 3 กลีบ อุ้มน้ำ และหลุดร่วงไว โคนกลีบดอกม้วนห่อ ส่วนปลายกลีบผายกว้างออกเกสรผู้มี 6 อัน

ผล ลักษณะทรงกลม แข็ง โต วัดผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร

สรรพคุณทั่วไป

  • เหง้า รสหวานเผ็ดร้อน สรรพคุณ แก้ไข แก้ลมพรรดึก แก้ลมพานไส้ แก้แน่น แก้เสียดแทง แก้นอนไม่หลับ แก้คลื่นเหียนอาเจียน

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • อาการหวัด ไอ ใช้เหง้าขิงสดอายุ 11-12 เดือน ขนาดเท่าหัวแม่มือ หนักประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตก แล้วต้มเอาน้ำมาดื่ม ถ้ามีอาการไอร่วมด้วยก็อาจผสมน้ำผึ้งในน้ำขิง หรืออาจเหยาะเกลือลงในน้ำขิงเล็กน้อยหากมีอาการไอร่วมกับเสมหะ เกลือจะทำให้ระคายคอและขับเสมหะที่ติดในลำคอออกมา จิบน้ำขิง บ่อยๆ แทนน้ำ 
  • อาการไอ ใช้เหง้าสดประมาณ 60 กรัม น้ำตาลทรายแดง 30 กรัม ใส่น้ำ 3 แก้ว นำไปต้มเคี่ยวให้เหลือครึ่งแก้ว แล้วจิบตอนอุ่นๆ หรือใช้ฝนกับมะนาวแทรกเกลือใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ ในกรณีที่ต้องการใช้ ขับเสมหะ คั้นน้ำขิงสดประมาณครึ่งถ้วย ผสมน้ำผึ้ง 30 กรัม อุ่นให้ ร้อนก่อนดื่ม ส่วนในรายที่ไอเรื้อรัง ใช้น้ำผึ้งประมาณ 500 กรัม น้ำคั้นจากเหง้าสดประมาณ 1 ลิตรนำมาผสมกันแล้วเคี่ยวในกระทะทองเหลือง (ถ้าไม่มีอาจใช้กระทะสแตนเลสที่ทนกรดทนด่างได้ แต่ ไม่ควรใช้กระทะเหล็ก) จนน้ำระเหยไปหมดจึงนำมาปั้นเป็นลูกกลอนเท่าเม็ดลูกพุทราจีน ให้อมกินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
  • อาการหวัดเย็นในเด็ก ใช้ขิงสดและรากฝอยต้นหอมตำรวมกัน เอาผ้าห่อคั้นเอา แต่น้ำทาที่คอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หน้าอก และหลังของเด็ก
  • อาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุก เสียดแน่น ใช้ขิง 30 กรัม ชงกับน้ำเดือด 500 มิลลิลิตร แช่ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง ดื่มครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ (60 มิลลิลิตร) ใช้ ขิงแก่ต้มกับน้ำ รินน้ำดื่มแก้โรคจุกเสียด ทำให้หลับสบาย ขิงแก่ยาว 2 นิ้ว ทุบพอแหลก เทน้ำเดือดลงไปครึ่งแก้ว ปิดฝา ตั้งทิ้งไว้นาน 5 นาที รินเอาแต่น้ำมาดื่มระหว่างอาหารแต่ละมื้อ ใช้ผงขิงแห้ง 1 ช้อนโต๊ะปาดๆ หรือ 0.6 กรัม ถ้าขิงแก่สดยาวประมาณ 1 องคุลี หรือประมาณ 5 กรัม ต้มกับน้ำ เติมน้ำตาลดื่มทุกๆ วัน ถ้าเป็นผงขิงแห้งให้ชงน้ำร้อน เติมน้ำตาลดื่ม
  • อาการปวดข้อ ใช้น้ำคั้นจากเหง้าสด ผสมกาวหนังวัว เคี่ยวให้ข้น นำไป พอกบริเวณที่ปวด หรือใช้เหง้าสดย่างไปตำ ผสมน้ำมัน มะพร้าวใช้ทาบริเวณที่ปวด
  • อาการคลื่นไส้ อาเจียน ขิงสด ๓๐ กรัมสับให้ละเอียด ต้มดื่มขณะท้องว่าง ใช้ขิงแก่สด หรือแห้ง ขิงสดขนาดหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ถ้าแห้ง 5-7 ชิ้น ต้มกับน้ำดื่ม นำขิงสด 3 หัว หัวโตยาวประมาณ 5 นิ้ว ใส่น้ำ 1 แก้ว ต้มจนเหลือ 1/2 แก้ว (ประมาณ 15-20 นาที หลังจากเดือดแล้ว) รินเอาน้ำดื่ม
  • อาการปวดประจำเดือน ขิงแห้ง 30 กรัม น้ำตาลอ้อย (หรือน้ำตาลทรายแดง) 30 กรัม ต้มน้ำดื่ม
  • อาการผมร่วงหัวล้าน ใช้เหง้าสด นำไปผิงไฟให้อุ่น ตำพอกบริเวณที่ผมร่วง วันละ 2 ครั้ง สัก 3 วัน ถ้าเห็นว่า ดีขึ้นอาจจะใช้พอกต่อไปจน กว่าผมจะขึ้น
  • อาการมือลอกเป็นขุย ใช้เหง้าสดมาหั่นเป็นแผ่น แล้วนำมาแช่เหล้า 1 ถ้วยชา ทิ้งไว้ 1 วัน แล้วนำแผ่นขิงมาถูบริเวณดังกล่าววันละ 2 ครั้ง
  • ช่วยให้เจริญอาหาร ใช้เหง้าสดประมาณ 1 องคุลี ถ้าผงแห้งใช้ 1/2 ช้อนโต๊ะ หรือประมาณ 0.6 กรัม ผงขิงแห้งชงกับน้ำดื่ม เหง้าสดต้มน้ำ หรือปรุงอาหาร เช่น ผัด หรือรับประทานสดๆ เช่น กับลาบ แหนม และอื่นๆ
  • ช่วยให้ผิวพรรณเรียบเนียนยิ่งขึ้น ด้วยการนำขิงสดมาขูดเป็นฝอยแล้วนำมานวดบริเวณต้นขา ก้น หรือบริเวณที่มีเซลลูไลต์จะช่วยลดความขรุขระของผิวได้อีกด้วย
  • ช่วยลดกลิ่นปาก แก้อาการปากเหม็น ด้วยการนำขิงมาคั้นผสมน้ำอุ่นและเกลือเล็กน้อย นำมาอมบ้วนปาก ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปากได้อีกด้วย
  • ช่วยกำจัดกลิ่นรักแร้ ด้วยการใช้เหง้าขิงแก่นำมาทุบให้แหลก แล้วนำมาคั้นเอาน้ำมาทารักแร้เป็นประจำ จะช่วยกำจัดกลิ่นได้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://thai-herbs.thdata.co/page/ขิงแครง/
  2. https://www.technologychaoban.com/thai-local-wisdom/article_177304