เพกา
  ชื่อสามัญภาษาไทยเพกา
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษBroken bone, Damocles tree, Indian trumpet flower, Indian trumpet tree
  ชื่อวิทยาศาสตร์Oroxylum indicum (L.) Kurz
  ชื่อวงศ์Bignoniaceae
  ชื่อท้องถิ่นลิ้นฟ้า (เลย, ภาคอีสาน), กาโด้โด้ง (กาญจนบุรี), ดุแก ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ (แม่ฮ่องสอน), เบโด (จังหวัดนราธิวาส), มะลิ้นไม้ มะลิดไม้ ลิดไม้ (ภาคเหนือ), โชยเตียจั้ว (จีน)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    เพกาเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงกลางและเป็นไม้ กึ่งผลัดใบหรือไม่ผลัดใบ สูง 5-12 เมตร ขนาดลำต้นประมาณ 10-30 เซนติเมตร เรือนยอดเล็ก กิ่งเปราะหักง่าย แตกกิ่งก้านน้อย ต้นที่มีอายุน้อยมีกิ่งใหญ่ตรงกลางกิ่งเดียว เปลือกเรียบ มีใบเป็นกลุ่มตรงกลาง คล้ายกับต้นปาล์ม ภายหลังจากออกดอก ลำต้นจะแยกเป็นกิ่งระเกะระกะ เปลือกต้น สีน้ำตาลครีมอ่อน หรือเทาอ่อน แตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยม และแผลของใบยาวถึง 150 เซนติเมตร เกิดจากใบที่ร่วงไปแล้ว ลำต้นและกิ่งก้านมีรูระบายอากาศ กระจายอยู่ทั่วไป เปลือกลำต้นเรียบสีเทา มีรอยแผลเป็น จากการหลุดร่วงของใบ

    ใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น ปลายคี่ ใบขนาดใหญ่ ยาว 60-200 เซนติเมตร เรียงตรงข้ามกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ปลายยาว ขอบใบเรียบ ฐานใบสอบแคบ ใบเกลี้ยง หรือมีขนสีขาวสั้นๆ ด้านล่าง ท้องใบนวล ก้านใบบนสุดแยกออก 1 ครั้ง ก้านใบกลางแยก 2 ครั้ง และก้านใบล่างแยก 3 ครั้ง ทำให้เห็นใบทั้งหมดเป็นรูปสามเหลี่ยม ก้านใบย่อยยาว 5-8 มิลลิเมตร ก้านใบข้าง และก้านใบร่วมโค้งพองออกที่ฐานและที่ข้อ ก้านใบยาว 0.5-2 เมตร

    ดอกช่อขนาดใหญ่แบบกระจะ ออกที่ปลายยอดเป็นกระจุก มีดอกย่อย 20-35 ดอก จะบานพร้อมกันคราวละ 2-3 ดอก ก้านช่อดอกยาว 60-180 เซนติเมตร ยื่นออกมานอกทรงพุ่มของยอด ดอกย่อยขนาดใหญ่ 8-12 เซนติเมตร กลีบดอกสีนวลแกมเขียวโคนกลีบเป็นหลอดสีม่วงแดง หรือม่วงด้านนอก หลอดกลีบดอกยาว 2-4 เซนติเมตร รูปแตร กลีบดอกหนา ขอบย่น ไม่มีพู หรือพูไม่เท่ากัน มีต่อมกระจายอยู่ด้านนอก ด้านในมีขนหนาแน่น ดอกบานตอนกลางคืน มีกลิ่นสาบฉุน และร่วงตอนเช้า มักจะมีดอกและผลในกิ่งเดียวกัน เกสรตัวผู้ 5 อัน ติดกับหลอดดอก โคนก้านมีขน เกสรตัวเมียมี 1 อัน กลีบเลี้ยงยาว 2-4 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก ปลายไม่แยกเป็นกลีบอย่างเด่นชัด เมื่อเป็นผล กลีบเลี้ยงนี้จะเจริญเป็นเนื้อแข็งมาก

    ผลเป็นฝัก แบน โค้งเล็กน้อยที่ฐาน มีสันเล็กๆที่ด้านข้าง คล้ายรูปลิ้น ห้อยอยู่เหนือเรือนยอด กว้าง 6-10 เซนติเมตร ยาว 30-120 เซนติเมตร สีน้ำตาลเข้ม สีแดง ติดฝักยาก ฝักเป็นรูปดาบ เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดแบนสีขาว ขนาด 4-8 เซนติเมตร มีปีกบางโปร่งแสง เยื่อนี้ช่วยให้เมล็ดปลิวตามแรงลมให้ตกห่างต้นเพื่อขยายพันธุ์ได้ไกลขึ้น

สรรพคุณทั่วไป

  • แก้ไอและขับเสมหะ
  • เป็นยาระบาย
  • แก้ร้อนในกระหายน้ำ
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • ระงับไอ
  • ใช้เป็นยาขับลม
  • แก้ปวดท้อง
  • แก้ปวดข้อต่างๆ
  • เป็นยาสมานแผล
  • ขับน้ำเหลืองเสีย
  • ขับเลือดดับพิษโลหิต
  • บำรุงโลหิต
  • แก้เสมหะจุกคอ
  • แก้บิด
  • แก้อาการจุกเสียด
  • ใช้บำรุงธาตุ
  • แก้ไข้สันนิบาต

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • นำเปลือกต้นฝนกับน้ำปูนใสทาแก้อาการบวม ฟกช้ำ และ อักเสบ หรือนำเปลือกเพกาฝนทารอบๆ ฝีแก้ปวดฝี
  • เปลือกต้นตำผสมกับสุรา ใช้เป็นยากวาดประสะพิษซางเด็กชนิดเม็ดเหลือง แก้ละอองขึ้นในปาก คอลิ้น แก้ละอองไข้ ใช้ฉีดพ่นตามตัวคนคลอดบุตรที่ทนการอยู่ไฟไม่ได้ ทำให้ผิวหนังชา ทารอบ ๆ ฝี แก้ปวดฝีทาแก้อาการฟกบวมอักเสบ
  • เปลือกต้นสดตำผสมกับน้ำส้ม (ซึ่งได้จากรังมดแดง) หรือเกลือสินเธาว์ รับประทานขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด แก้บิด แก้อาเจียนไม่หยุด รับประทานแก้เสมหะจุกคอ (ขับเสมหะ) ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต
  • ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เปลือกเพกา เปลือกต้นไข่เน่า ใบไข่เน่า แก่นลั่นทม บอระเพ็ด ใบเลี่ยน รากหญ้าคา รวม 7 อย่าง น้ำหนักอย่างละ 2 บาท นำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 แก้วเล็ก ก่อนอาหาร เช้าและเย็น
  • ช่วยแก้และบรรเทาอาการไอ และขับเสมหะโดยใช้เมล็ดแก่เพกาประมาณครึ่งกำมือถึงหนึ่งกำมือ (1.5 – 3 กรัม) ใส่ในหม้อที่เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร แล้วต้มไฟอ่อน ๆ จนเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำมาดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวัน เย็น จนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • แก้โรคไส้เลื่อน ด้วยการใช้เปลือกต้นเพกา รากเขยตาย หญ้าตีนนก นำมาตำรวมกันให้ละเอียด แล้วนำไปละลายกับน้ำข้าวเช็ด ใช้ขนไก่ชุบพาด นำมาทาลูกอัณฑะ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://www.disthai.com/16941195/เพกา