ตะขบ
  ชื่อสามัญภาษาไทยตะขบ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCalabura, Jam tree, Jamaican cherry, Malayan Cherry, West Indian Cherry
  ชื่อวิทยาศาสตร์Muntingia calabura L.
  ชื่อวงศ์Muntingiaceae
  ชื่อท้องถิ่นครบฝรั่ง (สุราษฎร์ธานี), หม่ากตะโก่เสะ (กะเหรี่ยงแดง), ตากบ (ม้ง), เพี่ยนหม่าย (เมี่ยน), ตะขบฝรั่ง (ไทย)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ต้นตะขบ จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 5-7 เมตร และอาจสูงได้ถึง 10 เมตร แตกกิ่งก้านแผ่ขนานกับพื้นดิน เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มขึ้นปกคลุม ตะขับหรือตะขบฝรั่งนี้มีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ พบปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผลทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศพบปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ผล และมักพบขึ้นเป็นวัชพืชตามที่รกร้างว่างเปล่าตามป่าโปร่งทั่วไป หรือมักขึ้นเองตามธรรมชาติที่นกและสัตว์ขนาดเล็กถ่ายมูลเมล็ดตะขบทิ้งไว้ สามารถขยายพันธุ์ได้เองโดยวิธีการเพาะเมล็ด ออกดอกและติดผลได้ตลอดทั้งปี ใบตะขบ

    ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับแบบทแยงกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนหรือข้างหนึ่งมนส่วนอีกข้างหนึ่งแหลม ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันเล็ก ๆ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-9 เซนติเมตร หลังใบด้านบนเป็นสีเขียว ส่วนท้องใบด้านล่างเป็นสีนวล หลังใบและท้องใบมีขนนุ่มจับดูจะรู้สึกเหนียวมือเล็กน้อย เส้นแขนงใบมี 3-5 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร และมีขน โคนก้านเป็นปม ๆ

    ดอกตะขบ ออกเป็นดอกเดี่ยวหรือออกเป็นคู่ โดยจะออกบริเวณเหนือซอกใบ ดอกเป็นสีขาว เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบดอกย่นเป็นสีขาวมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่กลับป้อม ๆ ปลายกลีบมน มีขนาดกว้างประมาณ 9 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 11 มิลลิเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ไม่ติดกัน เป็นสีเขียว ลักษณะเป็นรูปหอก ปลายกลีบแหลมเป็นหางยาว โคนกลีบตัด กลีบด้านนอกมีขนขึ้นปกคลุม ส่วนด้านในเกลี้ยง กลีบเลี้ยงมีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรยาวประมาณ 5-6.5 มิลลิเมตร เกลี้ยง ส่วนก้านเกสรเพศเมียสั้น ภายในมี 5-6 ช่อง แต่ละช่องจะมีไข่อ่อนจำนวนมาก ก้านดอกยาวประมาณ 1.5-1.6 เซนติเมตร มีขน ผลตะขบ หรือ ลูกตะขบ

    ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.75-1.5 เซนติเมตร เปลือกผลบาง ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดง ผลมีรสหวาน ภายในมีเมล็ดแบนขนาดเล็กจำนวนมาก

สรรพคุณทั่วไป

  • ผลสุกมีรสหวานเย็นหอม มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจ
  • ดอกตะขบมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม บ้างใช้เนื้อไม้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ
  • ใช้เป็นยาแก้หวัด ลดไข้ ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาชงเป็นน้ำชาดื่ม บ้างใช้เนื้อไม้เป็นยาแก้ไข้หวัด
  • ใบมีรสฝาดเอียด มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ
  • รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้เสมหะ ช่วยกล่อมเสมหะ
  • ช่วยแก้อาการปวดเกร็งในทางเดินอาหาร ด้วยการใช้ดอกตะขบแห้ง 3-5 กรัม นำมาชงกับน้ำเป็นชาดื่ม
  • เนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด
  • ต้นใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาระบาย เนื่องจากมีสาร mucilage มาก หรือจะใช้เปลือกต้นสดหรือแห้ง (รสฝาด) ประมาณ 1 ฝ่ามือ นำมาสับเป็นชิ้นต้มในน้ำเดือด 1 ลิตร ประมาณ 15 นาที แล้วกรองเอาแต่น้ำดื่มเป็นยาระบายก็ได้
  • เนื้อไม้ใช้เป็นยาขับไส้เดือน
  • ดอกใช้ต้มรวมกับสมุนไพรอื่นกินเป็นยาขับระดูของสตรี
  • ใช้เป็นยาแก้โรคตับอักเสบ ด้วยการใช้ดอกนำมาต้มรวมกับสมุนไพรอื่นกิน
  • ใช้เป็นยาแก้ตานขโมย
  • ต้นใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง ส่วนรากใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง แก้ผื่นคันตามตัว
  • ดอกใช้เป็นยาแก้ปวดและแก้อักเสบ

 
 
แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://medthai.com/ตะขบฝรั่ง/
  2. https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=1625&code_db=610010&code_type=01