ยี่โถ
  ชื่อสามัญภาษาไทยยี่โถ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษOleander, Sweet Oleander, Rose Bay
  ชื่อวิทยาศาสตร์Nerium oleander L.
  ชื่อพ้องNerium odorum Soland., Nerium odoratum Lam., Nerium indicum Mill.
  ชื่อวงศ์Apocynaceae
  ชื่อท้องถิ่นไทย ยี่โถจีน ยี่โถดอกขาว ยี่โถดอกแดง (ภาคกลาง) อินโถ (ภาคเหนือ)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นยี่โถ มีถิ่นกำเนิดในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น โปรตุเกส ไปถึงอินเดียและอิหร่าน (เปอร์เซีย) โดยมีข้อสันนิษฐานว่ามีการแพร่เข้ามาในไทยโดยชาวจีน ในปลายรัชกาลที่ 2 หรือต้นรัชกาลที่ 3 ช่วงปี พ.ศ.2352 – 2364 โดยมีลักษณะเป็นไม้พุ่มที่มีความสูงประมาณ 2 เมตร เปลือกของลำต้นมีสีเทาเรียบ มียางสีขาวคล้ายน้ำนม 

ใบยี่โถ เป็นใบเดี่ยว มีรูปร่างรี ปลายและโคนใบแหลมคล้ายหอก ขอบใบเรียบหนาแข็ง มีสีเขียวเข้ม ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.7 เซนติเมตร 

ดอกยี่โถ ดอกมีสีชมพู ขาว มีทั้งดอกซ้อนและดอกชั้นเดียว โดยดอกที่มีชั้นเดียวจะมีกลีบดอก 5 กลีบ เวลาดอกบานจะมีกลิ่นหอม เมื่อดอกผสมกับเกสรและร่วงหลุดไปจะติดผลดอกละ 2 ฝัก 

ผลยี่โถ ผลเป็นรูปฝักยาว เมื่อแก่เปลือกแข็งจะแตกออก และมีเมล็ดอยู่ภายในจำนวนมาก จะมีขนคล้าย ๆ เส้นไหมติดอยู่ทำให้ลอยลมไปได้ไกล โดยต้นยี่โถนั้นสามารถออกดอกได้ทั้งปี และสามารถปลูกได้ทุกที่ ขึ้นได้ทุกสภาพดิน จะด้วยการเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง หรือตอนกิ่ง

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้เป็นยาบำรุงและรักษาโรคหัวใจ ปรับชีพจรให้เป็นปกติ แต่มีความเป็นพิษสูง ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง 
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ 
  • ดอกยี่โถ สรรพคุณช่วยแก้อาการปวดศีรษะ 
  • ช่วยแก้อาการอักเสบ 
  • รากและเปลือกยี่โถใช้เป็นยาทาภายนอก ช่วยรักษากลากเกลื้อน แผลพุพองได้ 
  • ใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงและยาเบื่อหนูได้

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • รากเเละเปลือกยี่โถใช้เป็นยาทาภายนอกได้ ช่วยรักษากลากเกลื้อน เเผลพุพอง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. pharmacy.mahidol.ac th 
  2. นันทวัน บุญยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน เล่ม 4. บริษัทประชาชน จำกัด กรุงเทพ, 2543;740 หน้า. 
  3. khaoloan.redcross.or.th
  4. เว็บไซต์หมอชาวบ้าน
  5. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล