พิกุล
  ชื่อสามัญภาษาไทยพิกุล
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษBullet Wood , Headland Flower , Asian bulletwood,Spanish cherry
  ชื่อวิทยาศาสตร์Mimusops elengi L.
  ชื่อพ้องMimusops elengi var. parvifolia (R.Br.) H.J.Lam, Mimusops parvifolia R.Br.
  ชื่อวงศ์Sapotaceae
  ชื่อท้องถิ่นซางดง (ลำปาง), พิกุลเขา พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุลป่า (สตูล), แก้ว (ภาคเหนือ), กุน (ภาคใต้), ไกรทอง, ตันหยง, มะเมา, พกุล, พิกุลทอง
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นพิกุล มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า อินโดจีน และในหมู่เกาะอันดามัน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้างหนาทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลและแตกเป็นรอยแตกระแหงตามแนวยาว ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว ส่วนกิ่งอ่อนและตามีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง ชอบขึ้นในพื้นที่ดินดี ชอบแสงแดดจัด ทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขังได้นานถึง 2 เดือน มีการเพาะปลูกมากในมาเลเซีย เกาะโซโลมอน นิวแคลิโดเนีย วานูอาตู และออสเตรเลียทางตอนเหนือ รวมไปถึงเขตร้อนทั่ว ๆ ไป 

ใบพิกุล มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันแบบห่าง ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี ใบมีความกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมหรือหยักเป็นติ่งสั้น ๆ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย หลังใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมัน ท้องใบจะเป็นสีเขียวอ่อน และเนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างเหนียว ส่วนก้านใบยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร หูใบมีลักษณะเป็นรูปเรียวแคบ ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และหลุดร่วงได้ง่าย 

ดอกพิกุล ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกประมาณ 2-6 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ดอกพิกุลจะมีขนาดเล็กสีขาวนวล มีกลิ่นหอม (กลิ่นยังคงอยู่แม้ตากแห้งแล้ว) และหลุดร่วงได้ง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายแหลม มีขนสั้นสีน้ำตาลนุ่ม ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร โดยกลีบดอกจะสั้นกวากลีบเลี้ยงเล็กน้อย กลีบดอกมี 8 กลีบ ที่โคนกลีบเชื่อมกันเล็กน้อย กลีบดอกแต่ละกลีบจะมีส่วนยื่นออกมาด้านหลัง 2 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นจะมีลักษณะ ขนาด และสีคล้ายคลึงกับกลีบดอกมาก ดอกมีเกสรตัวผู้สมบูรณ์ 8 ก้าน อับเรณูเป็นรูปใบหอกและยาวกว่าก้านชูอับเรณู เกสรตัวผู้เป็นหมัน 8 อัน และรังไข่มี 8 ช่อง เมื่อดอกใกล้โรยจะเป็นสีเหลืองอมสีน้ำตาล สามารถออกดอกได้ตลอดปี 

ผลพิกุล ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ถึงรี ผิวผลมีลักษณะเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีขนสั้นนุ่ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแสด ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เนื้อในผลเป็นสีเหลืองมีรสหวานอมฝาดและมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะแบนรี แข็ง สีดำเป็นมัน ติดได้ตลอดปี

สรรพคุณทั่วไป

  • ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต 
  • แก่นที่รากและดอกแห้งใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ส่วนดอกสดใช้เข้ายาหอมช่วยบำรุงหัวใจเช่นกัน 
  • ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น 
  • ช่วยคุมธาตุในร่างกาย 
  • ช่วยแก้โลหิต ฆ่าพิษโลหิต 
  • ช่วยแก้เลือดตีขึ้นให้สลบไป แก้เลือดตีขึ้นถึงกับตาเหลือง 
  • ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย 
  • ช่วยแก้หอบ 
  • ช่วยแก้หืด 
  • แก่นใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้จับ แก้ไข้หมดสติ แก้ไข้คลั่งเพ้อ 
  • ช่วยแก้อาการร้อนใน 
  • ผลสุกใช้รับประทานแก้อาการปวดศีรษะ 
  • ดอกแห้งใช้ป่นทำเป็นยานัตถุ์ 
  • ช่วยรักษาโรคคอ 
  • ผลสุกใช้รับประทานแก้โรคในลำคอและปาก 
  • ช่วยแก้อาการเจ็บคอ 
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาอมกลั้วคอล้างปาก แก้โรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม รำมะนาด 
  • เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำเกลือช่วยแก้อาการปวดฟัน ช่วยทำให้ฟันแน่น แก้ฟันโยก ช่วยฆ่าแมงกินฟันที่ทำให้ฟันผุ 
  • ช่วยรักษาอาการปากเปื่อย 
  • ดอกแห้งช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ ละลายเสมหะ
  • รากและดอกใช้ปรุงเป็นยาแก้ลม (ระบบไหลเวียนทางโลหิต) ช่วยขับเสมหะที่เกิดจากลม 
  • ช่วยบำรุงปอด 
  • ช่วยแก้อาการท้องเสีย ลงท้อง 
  • เมล็ดนำมาตำให้ละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดสำหรับสวนทวารหรือทำเป็นยาเหน็บทวารเด็กเมื่อมีอาการท้องผูก ช่วยแก้โรคท้องผูก (เข้าใจว่าใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) 
  • ช่วยขับลม 
  • ช่วยรักษาไส้ด้วนไส้ลาม 
  • ใบมีสรรพคุณฆ่าพยาธิ ช่วยแก้ตัวพยาธิ 
  • เมล็ดใช้เป็นยาขับปัสสาวะ 
  • ใบช่วยรักษากามโรค ฆ่าเชื้อกามโรค 
  • ช่วยแก้ตกโลหิต 
  • ขอนดอก (เนื้อไม้ที่ราลง มีสีน้ำตาลเข้มประขาว เรียกว่า “ขอนดอก”) ใช้เป็นยาบำรุงตับ 
  • ผลดิบและเปลือกเป็นยาฝาดมาน 
  • ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและตามร่างกาย 
  • ช่วยแก้อาการบวม 
  • ช่วยแก้เกลื้อน ส่วนแก่นช่วยรักษากลากเกลื้อน 
  • ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง 
  • ช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • พิกลุผลสุกใช้รับประทานแก้อาการปวดศีรษะ แก้โรคในลำคอ และปาก 
  • ดอกแห้งใช้ชงแบบชาหรือใช้ต้มเอาน้ำรับประทาน ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ปวดหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ปวดหัว เจ็บคอ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน แก้ไข้ แก้ท้องเสีย 
  • เปลือกต้นใช้เป็นยาอมกลั้วคอล้างปาก แก้โรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม รำมะนาด หรือนำมาต้มกับน้ำเกลือช่วยแก้อาการปวดฟัน ช่วยทำให้ฟันแน่น แก้ฟันโยก ช่วยฆ่าแมงกินฟันที่ทำให้ฟันผุ  
  • รากนำมาต้มเอาน้ำรับประทาน ช่วยบำรุงโลหิต ขับเสมหะ แก้ลม ขับลม 
  • เมล็ดนำมาตำให้ละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดสำหรับสวนทวารหรือทำเป็นยาเหน็บทวารเด็กเมื่อมีอาการท้องผูก ช่วยแก้โรคท้องผูก

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  “พิกุล (Pi Kul)“.  หน้าที่ 195.
  2. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “พิกุล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [10 ม.ค. 2014].
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “พิกุล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [10 ม.ค. 2014].
  4. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “พิกุล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [10 ม.ค. 2014].
  5. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “พิกุล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com.  [10 ม.ค. 2014].
  6. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “พิกุล“.  อ้างอิงใน: หนังสืออุทยานสมุนไพรพุทธมลฑล หน้า 22 (สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th.  [10 ม.ค. 2014].
  7. อุทยานดอกไม้ ๑๐๘ พรรณไม้ไทย.  “ดอกพิกุล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com.  [10 ม.ค. 2014].
  8. สวนพฤกษศาสตร์ โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย.  “พิกุล“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaigoodview.com/library/studentshow/2549/m6/BotanicalGarden/.  [10 ม.ค. 2014].
  9. สมุนไพรไทย-ภูมิปัญญาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “สมุนไพรไทยพิกุล“.  (วชิราภรณ์ ทัพผา).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th.  [10 ม.ค. 2014].