มะละกอ
  ชื่อสามัญภาษาไทยมะละกอ
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษPapaya
  ชื่อวิทยาศาสตร์Carica papaya L
  ชื่อวงศ์Caricaceae
  ชื่อท้องถิ่นมะก๊วยเต๊ด (ภาคเหนือ) , บักหุ่ง (ภาคอีสาน) , ลอกอ (ภาคใต้) , กล้วยลา (ยะลา) , มะเต๊ะ (ปัตตานี),แตงต้น (สตูล) , หมากซางพ่อ (ไทยใหญ่), สะกุยเส่ (กะเหรี่ยง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

มะละกอเป็นไม้ล้มลุก เนื้ออ่อน อายุหลายปี ลำต้นตรงไม่มีกิ่งก้าน สูง 3-6 เมตร เปลือกต้นเรียบ (แต่มีร่องรอยของใบที่หลุดร่วงไปเลย ทำให้ดูเหมือนลำต้นขรุขระ) สีน้ำตาลออกขาว ไม่มีแก่น มียางขาวข้น 

ใบเป็นใบเดี่ยวมีแฉกลึก 5-9 แฉก ก้านใบยาว ออกแบบเรียงสลับรอบต้น โดยจะเกาะกลุ่มอยู่ด้านบนสุดของลำต้น ใบเป็นรูปฝ่ามือมีขอบเว้าแฉกลึกลงถึงด้านใบ ซึ่งใบจะมีขนาด 80-120 เซนติเมตร ส่วนก้านใบเป็นหลอดกลวงยาว 25-100 เซนติเมตร โดยทั้งภายในก้านใบและใบมียางเหนียวสีขาว 

ดอก เป็นดอกแยกเพศอยู่ต่างต้น ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อยาวห้อยลง มีก้านดอกยาว กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ปลายแยกเป็น 5 กลีบ เมื่อดอกบานจะมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2.5 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ส่วนดอกเพศเมียออกเป็นดอกเดี่ยวก้านดอกสั้นหรือไม่มีก้านดอกเลย กลีบดอก 5 กลีบ ดอกมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ ทั้งนี้มะละกอบางต้นอาจมีดอกเพียงเพศเดียว แต่บางต้นอาจมีดอกทั้งสองเพศก็ได้ 

ผล เป็นแบบผลเนื้อมีหลายขนาดและรูปทรงตั้งแต่กลม รี และยาว แบบกระสวย ขนาดของผล มีหลายขนาดแล้วแต่สายพันธุ์ ผลดิบมีเปลือกสีเขียวและมียางสีขาวจำนวนมาก และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงแสดเมื่อสุก เนื้อในผลเมื่อดิบมีสีขาวรสจืดเมื่อสุกมีสีเหลืองถึงแสดแดงรสชาติหอมหวาน เมล็ดมีลักษณะกลม เมื่อยังอ่อนมีสีขาวผิวขรุชระ เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ และมีเยื่อหุ้มเมล็ดสีขาวใส

สรรพคุณทั่วไป

  • มีส่วนช่วยกระตุ้นให้มารดามีน้ำนมมากขึ้น
  • มะละกอมีส่วนช่วยในการบำรุงประสาทและสมอง
  • มะละกอมีเอนไซม์ที่เป็นยาช่วยย่อยอาหาร
  • ช่วยป้องกันลักปิดลักเปิดหรือเลือดออกตามไรฟันได้
  • ช่วยรักษาอาการขัดเบา ด้วยการใช้รากสดประมาณ 1 กำมือ รากแห้งอีกครึ่งกำมือ หั่นแล้วนำมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำมาดื่มวันละ 3 ครั้งก่อนมื้ออาหาร
  • เป็นยาระบายอ่อน ๆ แก้อาการท้องผูก ด้วยการกินเนื้อมะละกอสุก
  • ช่วยในการย่อยอาหาร
  • ใช้ฆ่าพยาธิ ด้วยการใช้ยางจากผลดิบซึ่งเป็นยาช่วยย่อยโปรตีน
  • ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา จากรากมะละกอ
  • ช่วยป้องกันการเกิดโรคนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • ช่วยรักษาอาการเท้าบวม ด้วยการนำใบมะละกอสด ๆ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาพอกบริเวณนั้น ๆ
  • ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ด้วยใช้รากมะละกอนำมาตำให้แหลกแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาทาบริเวณนั้น ๆ
  • ใช้รักษาอาการผดผื่นคันขึ้นตามลำตัว ด้วยใช้ใบมะละกอ 1 ใบ เกลือ 1 ช้อนชา น้ำมะนาวจำนวน 2 ผล นำมาตำรวมกันให้ละเอียดแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็นผดผื่น
  • ช่วยรักษาโรคกลาก เกลื้อน เท้าเปื่อย ด้วยการใช้ยางมะละกอดิบมาทาวันละ 3 ครั้ง จะสามารถช่วยฆ่าเชื้อราได้
  • ช่วยรักษาอาการคันอันเกิดมาจากพิษของหอยคัน ด้วยการใช้ยางมะละกอดิบ ๆ นำมาทาทั้งเช้าและเย็น
  • หากโดนเสี้ยนหรือหนามตำหรือหนามหักคาเนื้อใน หากนำยางมะละกอดิบมาทา หนามจะหลุดออกมา แต่ให้บ่งเปิดปากแผลก่อน
  • หากโดนตะปูตำเท้าเป็นแผล ให้นำผิวของลูกมะละกอดิบมาตำแล้วนำมาพอกแผล โดยเปลี่ยนใหม่วันละ 2 ครั้ง
  • ช่วยรักษาแผลพุพอง อักเสบ ด้วยการใช้ใบมะละกอที่แห้งกรอบนำมาบดให้เป็นผง นำไปผสมกับน้ำกะทิผสมให้พอเหนียว แล้วนำมาทาแผลวันละ 3 ครั้ง
  • ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้เนื้อมะละกอดิบ ๆ ต้มจนเปื่อย นำมาตำแล้วพอกบริเวณบาดแผล
  • ใช้รักษาอาการปวดหลังปวดข้อต่าง ๆ ด้วยการรับประทานมะละกอสุกอย่างต่อเนื่องจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้
  • ช่วยรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อไม่มีแรง ด้วยการใช้รากมะละกอตัวผู้นำมาแช่เหล้าขาวทิ้งไว้ 7 วัน และกรองเอาน้ำมาทาบริเวณที่กล้ามเนื้อหรือบริเวณที่กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ช่วยลดอาการปวดบวม ด้วยการนำใบมะละกอสด ๆ ไปย่างไฟหรือใช้น้ำร้อนลวก แล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการ หรือนำมาตำให้พอพยาบแล้วห่อด้วยผ้าขาวบาง นำมาทำเป็นลูกประคบก็ใช้ได้เหมือนกัน
  • ช่วยป้องกันการเกิดอาการตับโตหรือโรคที่เกี่ยวกับตับ
  • เป็นยาช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง
  • มีงานวิจัยมะละกอพบว่าการรับประทานมะละกอเป็นประจำมีส่วนช่วยในการต่อต้านโรคมะเร็งได้

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ใช้รักษาเท้าบวม โดยนำใบมะละกอสดๆ มาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาพอกบริเวณที่เป็น 
  • ใช้ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก โดยใช้รากมะละกอนำมาตำให้แหลกแล้วผสมกับเหล้าขาว นำมาทาบริเวณที่เป็น 
  • ใช้ลดอาการปวดบวม โดยนำใบมะละกอสด ๆ ไปย่างไฟหรือใช้น้ำร้อนลวก แล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการ 
  • ใช้รักษาแผลพุพอง อักเสบ โดยใช้ใบมะละกอที่แห้งกรอบมาบดให้เป็นผง นำไปผสมกับน้ำกะทิผสมให้พอเหนียว แล้วนำมาทาแผลวันละ 3 ครั้ง 
  • ใช้รักษาอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกล้ามเนื้อไม่มีแรง โดยใช้รากมะละกอตัวผู้นำมาแช่เหล้าขาวทิ้งไว้ 7 วัน และกรองเอาน้ำมาทาบริเวณที่กล้ามเนื้อหรือบริเวณที่เป็น 
  • ใช้รักษาโรคกลาก เกลื้อน เท้าเปื่อย โดยใช้ยางมะละกอดิบมาทาวันละ 3 ครั้ง 
  • ใช้รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก โดยใช้เนื้อมะละกอดิบๆ ต้มจนเปื่อย นำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. เดชา ศิริภัทร.มะละกอผักผลยอดนิยม สารพัดประโยชน์.คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า.
  2. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 179.มีนาคม 2537 ยางมะละกอรักษาแผลไฟไหม้.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. สมชาย ประภาวัต. ปาเปน เอนไซม์ในอุตสาหกรรมอาหาร.เทคโนโลยี. สิงหาคม-กันยายน 2535. ปีที่19 ฉบับที่104 หน้า 42-49 
  3. ฤทธิ์ขับปัสสาวะของสมุนไพรต่างๆ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. 
  4. ฤทธิ์ป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำของใบมะละกอ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. 
  5. สารสกัดน้ำจากเมล็ดมะละกอก่อให้เกิดความเป็นพิษต่ออสุจิ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. 
  6. รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ.มะละกอต้านอนุมูลอิสระ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. 
  7. องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ต้านเชื้อรา Candida ของน้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดมะละกอ.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. 
  8. สารสกัดเมล็ดมะละกอมีผลคุมกำเนิดเพศชาย.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. 
  9. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
  10. Philippine Herbal Medicine
  11. USDA Nutrient database