|
ชื่อสามัญภาษาไทย | กระไดลิง |
ชื่อวิทยาศาสตร์ | Bauhinia scandens L. |
ชื่อพ้อง | Lasiobema scandens (L.) de Wit, Lasiobema scandens var. horsfieldii (Miq.) de Wit) |
ชื่อวงศ์ | Caesalpinioideae |
ชื่อท้องถิ่น | มะลืมคำ (เชียงใหม่), กระไดลิง (ราชบุรี), กระไดวอก โชกนุ้ย (ชาวบน-ชัยภูมิ), เครือเสี้ยว (ไทใหญ่), กระไดวอก มะลืมดำ (ภาคเหนือ), บันไดลิง, ลางลิง |
กระไดลิงจัดเป็นพรรณไม้เถาเนื้อแข็งผลัดใบขนาดใหญ่ มีมือเกาะ มักขึ้นพาดพันตามเรือนยอดของต้นไม้อื่นไปได้ไกล เถาแก่มีลักษณะแข็ง เหนียว แบน โค้งไปมาเป็นลอนสม่ำเสมอ ลักษณะเป็นขั้น ๆ ดูคล้ายบันได จึงเรียกชื่อพรรณไม้ชนิดนี้ว่า “กระไดลิง” ตามกิ่งอ่อนจะมีขนขึ้นประปราย ส่วนกิ่งแก่จะเกลี้ยงไม่มีขน มีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และอินโดนีเซีย ส่วนในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วภาคของประเทศ ยกเว้นภาคใต้ เช่น จังหวัดเลย, ชัยภูมิ, นครราชสีมา, อยุธยา, กาญจนบุรี, สระบุรี, จันทบุรี, ชลบุรี, ปราจีนบุรี, ตราด, ประจวบคีรีขันธ์ ฯลฯ โดยมักขึ้นตามป่าดิบแล้งและตามป่าเบญจพรรณชื้น ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปพัด ปลายใบแหลมหรือเว้ามากหรือน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-12 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-11 เซนติเมตร ใบที่อยู่ส่วนปลายจะเว้าลึกลงมาค่อนใบ แผ่นใบจะมีลักษณะเป็นสองแฉก โคนใบกว้างและมักเว้าเล็กน้อย ที่รอยต่อก้านใบเป็นรูปคล้ายหัวใจ มีเส้นใบออกจากโคนใบ 5-7 เส้น ผิวใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน ส่วนด้านล่างมีขนขึ้นประปรายหรือเกลี้ยง ก้านใบยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร หูใบมีขนาดเล็กมาก เป็นติ่งยาวและร่วงได้ง่าย ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อดอกเป็นแบบช่อแยกแขนง ยาวประมาณ 12-25 เซนติเมตร มีขนขึ้นประปราย แตกแขนงน้อย แต่ละแขนงจะมีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันคล้ายรูปถ้วย ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกเป็นสีขาวอมเหลือง แยกจากกัน คล้ายรูปหัด ก้านกลีบดอกสั้น ดอกมีเกสรเพศผู้สมบูรณ์ 3 อัน และเกสรเพศผู้ไม่สมบูรณ์อีก 2 อัน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า รังไข่ก้านสั้น | |
| |
|