บุนนาค
  ชื่อสามัญภาษาไทยบุนนาค
  ชื่อวิทยาศาสตร์Mesua ferrea L.
  ชื่อพ้องMesua nagassarium (Burm. f.) Kosterm.
  ชื่อวงศ์Calophyllaceae
  ชื่อท้องถิ่นสารภีดอย (เชียงใหม่) นากบุต (ใต้) ก๊าก่อ ก้ำก่อ (แม่ฮ่องสอน) ปะนาคอ (ปัตตานี)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

บุนนาคจัดเป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นเปลา สูงได้ถึง 30 เมตร เรือนยอดทึบ และแคบ ทรงพุ่มใหญ่เป็นรูปเจดีย์ต่ำๆ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้นๆ หลุดร่วงง่าย เปลือกชั้นในมีน้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย เนื้อไม้สีแดงคล้ำ เป็นมันเลื่อม 

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงกันข้าม มีขนาดกว้าง 1.2-4 เซนติเมตร ยาว 5-13 เซนติเมตร รูปร่างมนรีแคบ หรือรูปหอกสอบเข้าหากันทั้ง 2 ด้าน ใบอ่อนมีสีชมพูแดง ห้อยลงเป็นพู่ ใบแก่ด้านบนเขียวเข้ม ด้านล่างมีนวลสีเทา เส้นใบข้างมีมากมาย แต่เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว 0.8-1.2 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบสอบ เนื้อใบหนา ขอบใบเรียบ 

ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือเป็นคู่ที่ซอกใบ หรือปลายกิ่ง เมื่อบานเต็มที่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 5-10 เซนติเมตร กลีบดอกสีขาว มี 5 กลีบ ซ้อนกัน รูปไข่กลับกว้าง ปลายบานและเว้า โคนสอบ เมื่อบานเต็มที่กลีบจะแผ่กว้างออก มีกลิ่นหอมเย็น ส่งกลิ่นหอมไปได้ไกล ดอกเป็นแบบสมบูรณ์เพศ ดอกห้อยลง ก้านดอกมีความยาวน้อยกว่า 1 เซนติเมตร เกสรตัวผู้มากกว่า 50 อัน สีเหลืองส้ม เป็นฝอย อับเรณูสีส้ม ก้านเกสรตัวเมียสีขาวยาว รังไข่มี 2 ช่อง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปช้อน งอเป็นกระพุ้ง แยกเป็น 2 วง ลักษณะกลม กลีบเลี้ยงแข็งและหนา และอยู่คงทนจนกระทั่งเป็นผลก็ยังคงติดอยู่ที่ผล 

ผลเป็น รูปไข่ ดอกจะแข็งมาก ปลายโค้งแหลม ปลายไม่แตก ที่ผิวผลมีรอยด่างสีน้ำตาล ผลรูปไข่ แข็ง มีขนาดกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร สีส้มแก่ หรือสีม่วงน้ำตาล มีเปลือกเป็นเส้นใยแข็งห้อหุ้ม และมีหยดของยางเหนียว ที่ฐานมีกลีบเลี้ยงหนารองรับ 4 กลีบ ติดอยู่ และขยายโตขึ้นเป็นกาบหุ้มผล เมล็ดมีลักษณะแบน แข็งมี 1-4 เมล็ด สีน้ำตาลเข้ม เนื้อไม้ มีลักษณะสีแดงคล้ำ เป็นมันเลื่อม เสี้ยนค่อนข้างสน เนื้อค่อนข้างหยาบ แข็งเหนียว ทนทานดีมาก เลื่อย ผ่า ตบแต่งยาก ขัดชักเงาได้ดี ความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.12 (14%) เนื้อไม้มีความแข็งประมาณ 1,513 กก. ความแข็งแรงประมาณ 2,293 กก./ตร.ซม. ความทนทานตามธรรมชาติประมาณ 15 ปี สามารถนำไปอาบน้ำยาได้ง่าย

สรรพคุณทั่วไป

  • ช่วยบำรุงธาตุ
  • ช่วยขับลม
  • แก้ลมกองละเอียด
  • แก้วิงเวียน
  • แก้หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น
  • ช่วยชูกำลัง
  • ช่วยบำรุงโลหิต
  • ช่วยบำรุงหัวใจให้แช่มชื่น
  • แก้ร้อนในกระสับกระส่าย
  • ช่วยรักษาอาการร้อนอ่อนเพลีย
  • แก้กลิ่นสาบในร่างกาย
  • แก้ไอ
  • แก้ไข้
  • ช่วยขับเสมหะ
  • แก้ดับกระหาย
  • แก้ริดสีดวงทวาร(ยาพอก)
  • บำรุงครรภ์รักษา
  • ใช่เป็นยากระตุ้นการทำงานของร่างกาย
  • แก้น้ำเหลืองเสีย
  • แก้ทางเดินปัสสาวะอักเสบ 
  • ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค(น้ำมันจากเมล็ด)
  • ช่วยรักษาโรคปวดตามข้อ(น้ำมันจากเมล็ด)
  • ใช้ทารักษาโรคผิวหนัง(น้ำมันจากเมล็ด)
  • ช่วยรักษาบาดแผลสด พอกบาดแผลสด
  • แก้พิษงู
  • แก้เลือดออกตามไรฟัน
  • แก้ผื่น คัน
  • แก้หิด
  • ใช่คุมกำเนิด
  • ช่วยกระจายหนอง
  • ช่วยขับเหงื่อ(ต้มรวมกับขิง) 
  • แก้ลักปิดลักเปิด 
  • แก้สะอึก
  • แก้รัดตะปิตตะโรค
  • แก้โลหิตกำเดา
  • แก้ไข้สัมประชวร (ไข้เรื้อรัง ทำให้ร่างกายซูบผอม เบื่ออาหาร ไม่มีแรง) 
  • แก้ลมจุกแน่นในอก
  • แก้พิษหัด
  • แก้พิษสุกใส

 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ช่วยชูกำลัง แก้กระหาย แก้ร้อน อาการกระสับกระส่าย บำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น ช่วยแก้ไข้ แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ร้อนใน โดยการนำดอกแห้งของบุนนาคมาต้มกับน้ำดื่ม หรือใช้ดอกแห้ง 2-3 กรัม ชงกับน้ำร้อนดื่มก็ได้ รักษาโรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน แก้หิด แก้ปวดเมื่อยตามข้อ และแผลเล็กๆ น้อยๆ โดยใช้ น้ำมันจากเมล็ด ทาบริเวณที่เป็น
นอกจากนี้ยังมีการใช้ดอกและเกสรของบุนนาคมาเข้าเครื่องยาต่างๆ หลายตำรับอาทิเช่น ตำรับยาเขียวหอมที่มีขนาดการใช้ ดังนี้
  • ชนิดผงผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำ ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการเด็ก อายุ 6 – 12 ปี   รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ละลายน้ำกระสายยาทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ   
  • ชนิดเม็ด ผู้ใหญ่  รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการเด็ก อายุ 6 - 12 ปี  รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. วุฒิ วุฒิธรรมเวช.2540.เภสัชกรรมไทย:รวมสมุนไพร พิมพ์ครั้งที่2 โอ.เอส.พริ้นติ้งเฮ้าส์กรุงเทพมหานคร480หน้า
  2. รศ.ดร.สนั่น ศุภธีรสกุล , บุนนาค...พืชมงคล,ภาควิชาเภสัชเวทและพฤกษศาสตร์.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  3. นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร.2541.สมุนไพร.ไม้พื้นบ้าน(2)บริษัทประชาชนจำกัด กรุงเทพมหานคร 640 หน้า
  4. บุนนาค.ฐานข้อมูลเครื่องยา.คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=80
  5. เขียวหอม.ฐานข้อมูลตำรับยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์).เข้าถึงได้จากhttp://www.thai-remedy.com/main.php?action=viewpage&pid=1บุนนาค.กลุ่มพืชหอมเป็นยาบำรุงหัวใจ.สรรพคุณสมุนไพร200ชนิด.โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs_03_b.htm
  6. บุนนาค.ฐานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=67