ช้าพลู
  ชื่อสามัญภาษาไทยช้าพลู
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษWildbetal Leafbush
  ชื่อที่เกี่ยวข้องนมวา ผักปูนา ผักพลุนก พลูลิง เย่เท้ย
  ชื่อวิทยาศาสตร์Piper sarmentosumRoxb.
  ชื่อพ้องชะพลู
  ชื่อวงศ์Piperaceae
  ชื่อท้องถิ่นผักปูนก (ลำปาง), ช้าพลู (ภาคกลาง) ชะพลูเถา เฌอภลู (สุรินทร์) ผักปูนา ผักปูลิง ผักปูริง ปูลิงนก ผักพลูนก ผักอีไร ผักอีเลิศ (ภาคอีสาน) พลูลิง (ภาคเหนือ) เย่เท้ย (แม่ฮ่องสอน) พลูนก ผักปูนก (พายัพ) พลูลิงนก (เชียงใหม่) นมวา (ใต้) ปู้,ปู๊ (ไทยใหญ่)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    ต้นช้าพลู เป็นพรรณไม้ต้นเล็ก ๆ มีลำต้นสูงประมาณ 2 ฟุต ลักษณะลำต้นจะเป็นข้อ ๆ

    ใบมีลักษณะคล้ายใบพลูขนาดย่อม ใบจะเป็นสีเขียวแก่และมีรสเผ็ดเล็กน้อย ใบใช้กินเป็นผักได้ใบเป็นใบเดี่ยว (simple leaf) เรียงสลับ (alternate) รูปร่างใบเป็นรูปหัวใจ (cordate) เส้นใบชัดเจน 5-7 เส้น ปลายใบแหลม ผิวใบไม่เรียบขนาด 3-4.5 ซม. กว้าง 2-3 ซม. ใบใหญ่มีขนาดกว้าง 15 ซม. ยาว 17 ซม. ก้านใบยาว 1-5 ซม. ต้นและใบมีรสเผ็ดและกลิ่นฉุนเล็กน้อย

    ดอก ลักษณะดอกจะออกยาวเป็นปุ่ม ๆ คล้ายกับดอกดีปลี แต่จะสั้นกว่าดอกเป็นดอกช่อไม่มีก้านดอกย่อยอัดแน่น ช่อดอกสีขาวและเปลี่ยนเป็นสีเขียว ไม่มีกลีบ

    ผล เป็นผลรวม (multiple fruit) แบบเบอร์รี่ (berry) รูปทรงกระบอก เมล็ดขนาดเล็ก

สรรพคุณทั่วไป

  • ใบ ขับลม พบสารต้านอนุมูลอิสระ
  • น้ำต้มใบช้าพลู ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต และ ปกป้องเซลล์ตับ มีฤทธิ์แก้ปวด
  • ทั้งต้น ขับเสมหะ รักษาเบาหวาน
  • ผล เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคหืด แก้บิด
  • ราก แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อขับลม แก้บิด

 
สรรพคุณเฉพาะส่วนของสมุนไพร
 
  ใบเจริญอาหาร ขับเสมหะ
  รากขับลมในลำไส้
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • รักษาโรคเบาหวาน ใช้ชะพลูสดทั้ง 5 จำนวน 7 ต้น ล้างน้ำให้สะอาด ใส่น้ำพอท่วม ต้มให้เดือดสักพัก นำมาดื่ม เหมือนดื่มน้ำชา
  • แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลม ใช้ราก 1 กำมือ ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 1/2 ถ้วยแก้ว รับประประทานครั้งละ 1/2 ถ้วยแก้ว
  • แก้บิด ใช้รากครึ่งกำมือ ผล 2-3 หยิบมือ ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานครั้งละ 1/4 ถ้วยแก้ว
  • โรคเหงือกอักเสบ โรคปริทันต์ (โรครำมะนาด) เอาต้นชะพลูทั้งราก 6-9 ต้น เกลือ 1กำมือใส่น้ำให้ท่วมยา ต้มเคี้ยวรากครึ่งชั่วโมงเอาน้ำที่ได้มาอม หรือเอารากชะพลูกับเกลือมาตำให้ละเอียดแล้วพอก

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. https://pharmacy.su.ac.th/herbmed/herb/text/herb_detail.php?herbID=84
  2. https://www.disthai.com/16488297/ชะพลู