หมากผู้หมากเมีย
  ชื่อสามัญภาษาไทยหมากผู้หมากเมีย
  ชื่อสามัญภาษาอังกฤษCordyline, Ti plant, Dracaena Palm
  ชื่อวิทยาศาสตร์Cordyline fruticosa (L.) A.Chev.
  ชื่อวงศ์Asparagaceae
  ชื่อท้องถิ่นปูหมาก (เชียงใหม่), หมากผู้ (ภาคเหนือ), มะผู้มะเมีย (ภาคกลาง), ทิฉิ่ว ทิฉิ่วเฮียะ (จีนแต้จิ๋ว), เที่ยซู่ (จีนกลาง)
 
 
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นหมากผู้หมากเมีย จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ลักษณะของลำต้นตั้งตรง มีความสูงของต้นประมาณ 1-3 เมตร ไม่มีกิ่งก้านสาขามากนัก จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยการตอน การปักชำลำต้น การปักชำยอด การปักชำเหง้า และการแยกลำต้น เจริญเติบโตได้ดีในดินเกือบทุกประเภท ชอบดินร่วนซุย ความชื้นปานกลาง และแสงแดดปานกลางถึงรำไร มักขึ้นใกล้แหล่งน้ำ ที่มีความชุ่มชื้น หรือใต้ต้นไม้ใหญ่ที่มีแสงแดดรำไร ใบออกเป็นวงสลับกันบริเวณส่วนยอดของลำต้น 

ลักษณะของใบเป็นรูปยาวรี ปลายใบแหลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 นิ้ว และยาวประมาณ 12-20 เซนติเมตร ใบเป็นสีแดงเขียวหรือสีแดงม่วง ทั้งนี้ ลักษณะของใบและสีของใบก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูกด้วยครับ เพราะบางพันธุ์ใบจะเป็นรูปใบหอกปลายแหลม บางพันธุ์ใบเป็นรูปใบพาย หรือเป็นรูปเรียวแหลมแคบเป็นรูปเข็ม หรือใบแคบเรียวยาวแตกกิ่ง ใบที่เป็นเหมือนใบอ้อยก็มี ซึ่งแผ่นใบจะยาวเรียวแหลมมาก เป็นต้น 

ออกดอกเป็นช่อ ยาวประมาณ 12 นิ้ว โดยจะออกบริเวณยอดลำต้น ช่อดอกยาวประมาณ 30 เซนติเมตร ลักษณะของดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 6 กลีบ กลีบดอกเป็นรูปทรงกระยอก ดอกเป็นสีม่วงแดงหรือสีชมพูสลับด้วยสีเหลืองอ่อน ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน มีรังไข่ 3 ห้อง ในแต่ละห้องจะมีผลอ่อน 4-6 ผล ดอกย่อยมีขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร 

ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 มิลลิเมตร ผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-3 เมล็ด

สรรพคุณทั่วไป

  • รากมีสรรพคุณเป็นยาฟอกเลือด ด้วยการใช้รากสดครั้งละ 30-60 กรัม ถ้ารากแห้งให้ใช้เพียงครั้งละ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน 
  • ใช้เป็นยาแก้พิษกาฬ (พิษที่เกิดจากการติดเชื้อ) หรือนำมาต้มหรือแช่น้ำอาบแก้ไข้หัว (ไข้ร่วมกับผื่นหรือตุ่ม เช่น หัด เหือด อีสุกอีใส) 
  • ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้หวัด ไข้หวัดน้อย ไข้หวัดใหญ่ ไข้กำเดา ไข้พิษ ไข้กาฬ ไข้หัวต่าง ๆ แก้ตัวร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ 
  • ใบสดใช้ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้ไอ ไอเป็นเลือด หรือจะใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้อาการไอเป็นเลือดก็ได้ ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ใบสดประมาณ 60-100 กรัม หรือรากสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน 
  • ช่วยแก้โลหิตกำเดา ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 30-60 กรัม ถ้าแห้งใช้ 15-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน


 
 
วิธีใช้โดยทั่วไป

  • ดอกใช้เป็นยาแก้วัณโรคปอด ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 ใบ นำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ใบสด 60-100 กรัม หรือใช้รากสด 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน 
  • รากมีสรรพคุณเป็นยาแก้บิด แก้ท้องเสีย แก้ลำไส้อักเสบ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน 
  • ใบใช้เป็นยาแก้อาการเจ็บกระเพาะอาหารหรือปวดกระเพาะ แก้บิด ถ่ายเป็นมูกเบือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนตำรายาแก้บิดถ่ายเป็นมูกอีกตำรับ ระบุให้ใช้ใบสด 30-40 กรัม เปลือกลูกทับทิมแห้ง 10 กรัม ผักเบี้ยใหญ่สด 30 กรัม และดอกสายน้ำผึ้ง 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน 
  • ใช้แก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 3-5 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้ใบสด 60-100 กรัม ถ้าเป็นรากสดให้ใช้ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน 
  • ใช้แก้ประจำเดือนมามากเกินควร ด้วยการใช้ดอกสดครั้งละ 30-60 กรัม ส่วนดอกแห้งใช้เพียงครั้งละ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม 
  • ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะเป็นเลือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน หรือจะใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกินก็ได้ ส่วนอีกตำรับระบุให้ใช้ใบสด 60-100 กรัม หรือรากสด 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน 
  • ใช้เป็นยาแก้ถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 30-40 กรัม นำมาต้มกับเนื้อหมูรับประทาน 
  • ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวาร ด้วยการใช้ดอกแห้งประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มเอาน้ำกิน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “หมากผู้หมากเมีย”.  หน้า 821-822.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “หมากผู้หมากเมีย”.  หน้า 616.
  3. ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  “หมากผู้หมากเมีย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: agkc.lib.ku.ac.th.  [16 ก.ค. 2014].
  4. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “หมากผู้หมากเมีย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [16 ก.ค. 2014].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “Cordyline, Ti plant”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th.  [16 ก.ค. 2014].
  6. สวนพฤกษศาสตร์สายยาไทย.  “หมากผู้หมากเมีย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.saiyathai.com.  [16 ก.ค. 2014].
  7. ศูนย์ฝึกอบรมและควบคุมระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.  “หมากผู้หมากเมีย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/49190283/.  [16 ก.ค. 2014].